ศึกข้ามเกาะปินส์-มาเลย์ กำแพง"ชาติพันธุ์"อาเซียน

ข่าวสด อาเซียน



ถึงแม้ศึกปะทะที่รัฐซาบาห์ในมาเลเซียจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ แต่เป็นชนเผ่าซูลูทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่บุกไปอ้างกรรมสิทธิ์บนเกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 52 ราย

แต่รอยร้าวดังกล่าวเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน จนเป็นข้อวิตกว่าจะเป็นอุปสรรคต่อประชาคมอาเซียนอีกเรื่องหรือไม่ ?



ดร.ศราวุธ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า 

กรณีแย่งชิงรัฐซาบาห์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่มีมานานมากแล้ว หากมองย้อนดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่ารัฐซาบาห์เคยเป็นดินแดนของรัฐสุลต่านแห่งซูลู ซึ่งอยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์ โดยมีต้นตอความขัดแย้งเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากยุคอาณานิคมที่อังกฤษเข้ายึดครองมาเลเซีย และพื้นที่โดยรอบ จากนั้นอังกฤษก็ทำสัญญาเช่ารัฐซาบาห์จากสุลต่านซูลู

แต่เพราะสัญญาไม่ชัดเจน จะเป็นสัญญาเช่าก็ไม่ใช่ จะเป็นสัญญาซื้อขายขาดก็ไม่เชิง ฝ่ายสุลต่านซูลูอ้างว่าเป็นเพียงสัญญาเช่า ขณะที่มาเลเซียระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ เมื่อความเห็นไม่ลงรอย การกระทบกระทั่งจึงเกิดขึ้น และไม่ใช่แค่รัฐสุลต่านซูลูเท่านั้นที่เรียกร้องขอคืนกรรมสิทธิ์ แต่ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ทุกยุคทุกสมัยก็ตอกย้ำให้มาเลเซียคืนดินแดนของตนเช่นกัน 

อีกปัจจัยหนึ่งที่เติมเชื้อไฟให้กรณีนี้รุนแรงยิ่งขึ้น คือการลงนามสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดน (MILF) เพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่เกาะมินดาเนา ที่สู้รบมานานกว่า 40 ปี

แต่รัฐสุลต่านซูลูไม่ได้ร่วมอยู่ในการลงนามในครั้งนั้น ชาวซูลูจึงพยายามแสดงออกว่ายังมีตัวตน และใช้วิธีบุกขึ้นรัฐซาบาห์เพื่ออยู่อาศัย รวมถึงขยายชาติพันธุ์ เป็นการตอกย้ำกรรมสิทธิ์ที่ซูลูพึงมี 

"แต่การไม่พูดคุยกันดีๆ ทำให้ความตึงเครียดที่มีเป็นทุนเดิมลุกโชนจนกลายเป็นการปะทะอันเลวร้าย นี่คือบทเรียนที่อาเซียนต้องตระหนักว่าความมั่นคง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้น สำคัญไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจ" ดร.ศราวุธกล่าว 



ด้าน รศ.สีดา สอนศรี ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นว่า ความขัดแย้ง ชายแดนอาเซียนทั้งผืนแผ่นดินหรือทางทะเลที่เกิดขึ้นหลายกรณีนั้นจะส่งผลกระเทือนอาเซียนในแง่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 

เมื่อแต่ละประเทศคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว เวลาเข้าประชุมจะกินแหนงแคลงใจกัน ทำให้ความร่วมมือไม่ราบรื่น

ประเด็นเช่นนี้เลขาธิการอาเซียน ทำอะไรไม่ได้ เพราะอาเซียนไม่ได้ให้อำนาจไว้ ทั้งไม่แทรกแซงกัน ใครมีปัญหาก็เจรจากันไป ไม่เหมือนสหภาพยุโรปที่เป็นองค์กรเหนือชาติ เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจเขาก็อุ้ม กันได้ ถ้าอาเซียนมีจุดนี้คงจะดี แต่ทุกประเทศ ไม่อยากให้มี

แต่กรณีฟิลิปปินส์กับมาเลเซียนั้น เชื่อว่าจะคลี่คลายได้ก่อนปี 2558 เพราะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล อีกทั้งสองประเทศนี้พึ่งพาอาศัยกันมาโดยตลอด โดยมาเลเซียเป็นตัวกลางให้ฟิลิปปินส์เจรจากับกลุ่มมุสลิม 4 จังหวัดกับอีก 1 เมืองภาคใต้ที่ต้องการเป็นเขตปกครองส่วนท้องถิ่น ลักษณะเดียวกับพัทยา หรือกรุงเทพฯ 

การเจรจานี้สำเร็จไปร้อยละ 80 แล้ว แต่มาเกิดเรื่องนิดเดียวตรงที่กลุ่มของสุลต่านซูลูไม่พอใจว่าทำไมฟิลิปปินส์ไม่ใส่ดินแดนบรรพบุรุษลงไปด้วย


ส่วน รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้สถาน การณ์ในรัฐซาบาห์จะดุเดือด แต่เชื่อว่าจะคลี่คลายลงได้ เพราะองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สนใจ และเล็งเห็นความรุนแรงที่จะเพิ่มมากขึ้นหากไม่รีบเข้าไปไกล่เกลี่ย

แน่นอนว่าเมื่อดูจากเหตุการณ์ทั้งในรัฐ ซาบาห์ หรือปัญหามุสลิมโรฮิงยาในพม่า ศึกแยกดินแดนมุสลิมมินดาเนาในฟิลิปปินส์ การปะทะระหว่างมุสลิมอาเจะห์กับรัฐบาลอินโด นีเซีย รวมถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางใต้ของไทย คนส่วนใหญ่โจมตีว่ามุสลิมคือตัวการ 

"ผมบอกเลยว่ามุสลิมไม่ใช่ตัวปัญหา อินโดนีเซียมีมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการให้ภูมิภาคเล็กๆ สามัคคี และขยายความเจริญไปพร้อมกัน อาเซียนเองมีประชากรกว่าครึ่งที่นับถืออิสลาม แต่ก็ไม่เห็นจะมีปัญหา"

สิ่งที่เป็นกำแพงขวางกั้นความร่วมมือในอาเซียน หรือทั่วโลก จริงๆ แล้วคือเรื่อง "ชาติพันธุ์" 

เมื่อเรามองความแตกต่างเป็นปัญหา ปัญหาก็เกิด ศาสนาเป็นศรัทธาที่ทุกชนชาติมีสิทธิ์นับถือ หากอิสลามไม่ดีจริง เหตุใดจึงมีคนเลื่อมใสมากเป็นอันดับสองของโลก แทนที่ จะเชื่อกระแสตะวันตกซึ่งต่อต้านโลกมุสลิม อาเซียนควรมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อยุติความขัดแย้งเหล่านี้

หนึ่งในปรัชญาที่เรียนรู้จากอินโดนีเซีย คือ "Unity in Diversity" หรือ เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย คนเราต่างถิ่นต่างที่มา เมื่ออยู่ประเทศเดียวกัน สิ่งที่ต้องยึดถือเป็นหลักคือความมั่นคงโดยรวม ไม่ใช่กลุ่มใคร กลุ่มมัน

"อาเซียนในวันนี้ยังมีความแตกแยก แต่เรากลับมุ่งหาช่องทางทำเงินอย่างเดียว หากยังคิดกันแค่นี้ อาเซียนคงบอบช้ำไม่น้อยกว่าจะได้เป็นประชาคมอาเซียนจริงๆ" อ.จรัญกล่าวทิ้งท้าย 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...