หัวเราะบำบัด ยาดีใกล้ตัว

 


"คิดหวังอันใดให้เธอหวัง พลาดพลั้งอันใดให้เธอแก้
เงียบเหงายามใดไม่อ่อนแอ ดูแลเถิดความหวังกำลังใจ
หัวเราะเถิดแล้วโลกจะหัวเราะ ใจจะเกาะกลุ่มงามความสดใส
หากอ่อนแอ อ่อนล้า อ่อนอาลัย อยู่ตรงไหนก็คงเหงาเท่าๆ กัน"

กลอนบทนี้แวบเข้ามาในหัวทันทีครับ หลังจากที่เห็นตัวเลขที่จะต้องระบุบนหน้าปกเล่มนี้ว่าฉบับที่ 55 ผมจำไม่ได้แล้วว่า กลอนที่เขียนขึ้นมานี้ใครเป็นคนแต่ง แต่จำได้เพียงว่าวันนั้นเป็นเพียงวันอาทิตย์ธรรมดาๆ วันหนึ่ง ผมและครอบครัวกำลังเดินทางกลับจากการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ระหว่างนั่งแท็กซี่กลับ วิทยุก็ประกาศว่ากลอนบทดังกล่าวเป็นกลอนที่ได้รับรางวัลใดสักรางวัลหนึ่ง ผมฟังแล้วรู้สึกประทับใจมากและจำมาถึงทุกวันนี้

ที่เกริ่นแบบนี้ก็เพราะเห็นว่าในกลอนมีกล่าวถึงของการหัวเราะอยู่ คล้ายกับบอกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา การหัวเราะไว้ก่อน จะทำให้เรามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น และเล่มนี้เราจะคุยกันเรื่อง "หัวเราะบำบัด" ครับ

หัวเราะบำบัดนั้นไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้างนะครับ แต่มีงานวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญเขาวิจัยกันจริงๆ จังๆ ถึงผลของการหัวเราะ อย่างงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ โซฟี สก๊อต จากสถาบันประสาทวิทยาการจดจำแห่งประเทศอังกฤษ เขาได้ทำการทดลองและศึกษาผลของการหัวเราะโดยให้อาสาสมัครทดลองเปิดเทปบันทึกเสียงแล้วฟัง จากนั้นก็วัดปฏิกิริยาในสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

เสียงที่ให้เปิดฟังนั้น มีเสียงต่างๆ มากมาย ทั้งเสียงหัวเราะ เสียงดีใจ โห่ร้อง ยินดีกับชัยชนะ และรวมไปถึงเสียงร้องไห้ กรีดร้อง อาเจียน เป็นต้น ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า เสียงทั้งหมดก่อให้เกิดปฏิกิริยาในสมองส่วนที่เรียกว่า พรีมอเตอร์คอร์ติคอล (Premotor Cortical) โดยการตอบสนองในเสียงที่ส่อไปในเชิงบวก เช่น เสียงหัวเราะ เสียงยินดี จะมีมากกว่าเสียงที่ส่อไปในเชิงลบ เช่น เสียงกรีดร้อง เสียงอาเจียน ผลการทดลองนี้ทำให้สามารถช่วยอธิบายเหตุผลว่าเหตุใดคนทั่วไปจึงตอบสนองเสียงหัวเราะหรือเสียงแห่งการยินดีด้วยรอยยิ้มโดยอัตโนมัติ มีข้อมูลว่าในหนึ่งวันโดยเฉลี่ย เด็กจะหัวเราะประมาณ 400 ครั้ง ส่วนผู้ใหญ่เพียงแค่วันละ 14 ครั้งเท่านั้น นี่ก็น่าจะเป็นอีกคำตอบที่ทำให้ใครหลายคนอยากกลับกลายเป็นเด็ก เพราะหัวเราะได้บ่อยครั้งกว่าและน่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขมากกว่า

การหัวเราะยังเป็นสาเหตุหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง เพราะโรคนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด โดยงานวิจัยจากศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่าผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนมากจะค่อนข้างประสบกับภาวะเครียด ไม่ค่อยมีโอกาสได้หัวเราะ หรือยิ้มกับบุคคลอื่น ถ้าคิดเป็นตัวเลข ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสได้หัวเราะหรือมีรอยยิ้มน้อยกว่าคนปกติประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการหัวเราะเป็นประจำจึงถือว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยยะสำคัญได้

การหัวเราะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อเราหัวเราะ ร่างกายก็เพิ่มระดับความเข้มข้นของแอนติบอดี้ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันหมุนเวียนในกระแสเลือด รวมทั้งยังเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวคอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้ามาในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น โดย ดร.เอวี พรี ไพจิต รองประธานคณะแพทย์ของโรงพยาบาลเวอร์คงราม ประเทศอินเดีย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ความเครียดหรืออาการวิตกกังวล จะทำให้สุขภาพทรุดโทรม และทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย แต่การหัวเราะจะช่วยทำให้ความเครียดในร่างกายลดลง และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ทั้งนี้ในประเทศอินเดียยังได้นำการหัวเราะมาใช้ฝึกโยคะ และเป็นส่วนร่วมในการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกต่างๆ อย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ การหัวเราะยังช่วยบำบัดอาการอีกหลายๆ อาการได้ เช่น ช่วยทำให้ร่างกายต้านทานโรคติดเชื้อได้ดีขึ้น จากงานวิจัยของ ดร.เซลคอน โคเฮน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการหัวเราะยังช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราหัวเราะมากๆ เข้า ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟินออกมา ซึ่งเป็นสารที่สร้างมาจากต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ร่างกายเกิดความสุข โดยการหลั่งเอนโดรฟินนั้นเมื่อเราออกกำลังกายต่อเนื่องเกิน 30 นาที ร่างกายก็หลั่งสารนี้ได้เช่นกัน และทำให้เรารู้สึกมีความสุขครับ

ที่เล่ามาทั้งหมดในเรื่องของการหัวเราะ อาจจะไม่สามารถสัมผัสได้เท่าของจริงครับ ผมแนะนำให้คุณผู้อ่าน ลองปล่อยอารมณ์สบายๆ สักพัก แล้วสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด ฉีกปากสองข้างออกจากกัน กำมือชูนิ้วโป้งระดับท้อง แล้วเปล่งเสียง โอ๊ะๆๆๆ พร้อมขยับมือเป็นจังหวะ ง่ายๆ แค่นี้ก็นับเป็นการเริ่มต้นหัวเราะที่ดีแล้วครับ

ลองหัวเราะดู โลกนี้สดใสแน่นอนครับ


3 ก.พ. 56 เวลา 12:13 1,334 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...