คุณกำลังติด กาแฟอยู่หรือเปล่า

 

 

 

 

คุณกำลังติดกาเฟอีนอยู่หรือเปล่า

 

 



      กาเฟอีน (caffeine) ถือเป็นสารกระตุ้นประสาทที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลกนี้และในเกือบทุกประเทศ แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่อาจจะไม่ค่อยรู้จักสารตัวนี้ จึงขออธิบายถึงกาเฟอีนว่าคืออะไร มีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร

แหล่งที่มาของกาเฟอีน
      แน่นอนว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่รับรู้และเข้าใจมากที่สุดสำหรับคนทั่วไปว่ามีกาเฟอีน แต่ก็ยังมีเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ รวมถึงขนม และยาสามัญประจำบ้านอีกหลายตัวที่ผู้บริโภคหลายคนไม่ทราบว่ามีกาเฟอีนผสมอยู่ด้วย (ดูรายละเอียดในตาราง) และอาจเป็นสาเหตุให้มีโอกาสเกิดอาการกาเฟอีนเป็นพิษได้จากการกินของเหล่านี้หลายๆ อย่างผสมกัน โดยไม่ได้กินกาแฟสักแก้ว ที่สำคัญคือ อาจเกิดอาการกาเฟอีนเป็นพิษในเด็กได้จากการกินช็อกโกแลต 1-2 แท่ง และดื่มเครื่องดื่มโคล่า 2-3 ขวด เนื่องจากเด็กตัวเล็ก

การออกฤทธิ์
      กาเฟอีนเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท โดยกลไกการออกฤทธิ์หลักจะเป็น adenosine receptor antagonist (ซึ่งจะขอข้ามไปนะครับ) ซึ่งกาเฟอีนจะถูกดูดเข้าสู่ร่างกาย สมอง ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 30-60 นาทีเท่านั้น และสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 3-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยกาเฟอีนมักออกฤทธิ์ในผู้สูงอายุยาวนานกว่าในคนหนุ่มสาว และนี่ก็เป็นเหตุผลที่มีคำแนะนำว่าไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูงๆ ในช่วงบ่าย เพราะอาจจะทำให้นอนไม่หลับได้
      นอกจากการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางแล้ว กาเฟอีนยังเพิ่มการขับปัสสาวะ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ และเพิ่มการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารอีกด้วย

ข้อดีของกาเฟอีน
      การได้รับสารกาเฟอีนในขนาดปานกลาง (20-200 มิลลิกรัม หรือการดื่มกาแฟสดไม่เกิน 1 แก้ว) สามารถทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ มีความสุข ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย มีเรี่ยวแรง ลดความรู้สึกเหนื่อยล้า และทำให้ตื่นตัวไม่ง่วงนอน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การได้รับกาเฟอีนในขนาดที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มสมาธิ และความสามารถในการทำงานได้อีกด้วย (แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า กาเฟอีนไปเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมองโดยตรง หรือเป็นเพียงเพราะเรามีสมาธิดีขึ้น ตื่นตัว และไม่ง่วงนอนกันแน่)

โทษของกาเฟอีน
      โทษของกาเฟอีนสามารถแบ่งง่ายๆ ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กาเฟอีนเป็นพิษ และอาการถอนกาเฟอีน โดยแต่ละอาการมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

      กาเฟอีนเป็นพิษ (caffeine intoxication) มักจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับกาเฟอีนมากกว่า 250 มิลลิกรัมในระยะเวลาอันสั้น (คือกินรวดเดียวเลย) ซึ่งจะทำให้มีอาการใจสั่น กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ หน้าแดง กล้ามเนื้อกระตุก ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกกระเพาะลำไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ท้องเสีย รู้สึกเหมือนเป็นเหน็บชาที่ปลายมือปลายเท้า และนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการแบบวิตกกังวล (anxiety) ได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) หรือโรคแพนิค (panic disorder) จึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนโดยเด็ดขาด เพราะมักจะทำให้ดูเหมือนมีอาการมากขึ้นได้ ส่วนนักเรียน นักศึกษา หรือใครก็ตามที่ต้องการดื่มกาแฟเพื่ออ่านหนังสือสอบหรือทำงานละก็ ควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะ มิฉะนั้นแทนที่จะได้งานก็อาจจะเสียงานได้ โปรดระวัง!!!

      ส่วนการได้รับกาเฟอีนขนาดที่สูงมาก (มากกว่า 1,000 มิลลิกรัม) จะทำให้เกิดอาการกาเฟอีนเป็นพิษแบบรุนแรงได้ เช่น เริ่มสับสน พูดไม่รู้เรื่อง หัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเห็นภาพหลอนได้ (มักเห็นเป็นแสงแว่บๆ) แต่ถ้าเป็นคนที่สุขภาพไม่ดี หรือมีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคหัวใจ ก็อาจจะทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้

      ขณะที่การได้รับกาเฟอีนมากกว่า 10,000 มิลลิกรัมขึ้นไป (ซึ่งพบน้อยมาก มักจะเกิดจากการกินยาที่ผสมกาเฟอีนเกินขนาด เพราะคงไม่มีใครสามารถกินกาแฟได้เยอะขนาดนี้) ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายถึงชีวิต โดยจะทำให้เกิดอาการชัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

      การรักษา อาการกาเฟอีนเป็นพิษในระดับที่น้อยกว่า 1,000 มิลลิกรัมนั้นไม่มีการรักษาเฉพาะ และการรักษาตามอาการก็เพียงพอแล้ว เช่น หากกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ ก็อาจให้กินยานอนหลับ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อาการค่อยๆ ลดน้อยลงเองตามเวลาที่ผ่านไป ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ โดยส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายในเวลาไม่เกิน 3-6 ชั่วโมง ส่วนการได้รับกาเฟอีนขนาดมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมขึ้นไปควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยหากอาการรุนแรงมาก อาจจะต้องทำการล้างท้องหรือฟอกเลือดต่อไป

      อาการถอนกาเฟอีน (caffeine withdrawal) หรือที่บางคนเรียกว่าอาการติดกาเฟอีน (หรือติดกาแฟ) จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้กาเฟอีนหยุดใช้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 50-70% ของผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำนั้นเคยเจออาการแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) 

      โดยผู้ที่จะเกิดอาการถอนได้นั้น ต้องเป็นคนที่ใช้สารกาเฟอีนในขนาดอย่างน้อย 100 มิลลิกรัมต่อวัน และใช้เป็นประจำทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน (ส่วนใหญ่มักจะต้องมากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป) มักจะเกิดอาการถอนขึ้นหลังจากหยุดกาเฟอีนไปประมาณ 24 ชั่วโมง โดยอาการถอนที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ปวดศีรษะและอ่อนเพลีย ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบบ้าง ได้แก่ ง่วงนอนมากกว่าปกติ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ การทำงานของกล้ามเนื้อแย่ลง ในบางรายอาจจะทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าแบบไม่รุนแรงได้ โดยอาการถอนจะเป็นมากที่สุดในช่วง 1-2 วันหลังจากหยุดกิน และจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเองในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์

      การรักษาทำได้โดย รักษาตามอาการ เช่น หากปวดหัวก็รับประทานยาแก้ปวด เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะไม่รุนแรงและจะค่อยๆ หายไปเอง การรักษาแบบที่สองคือกินกาเฟอีนเข้าไป ซึ่งจะทำให้มีอาการดีขึ้นภายใน 30-60 นาที สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เป็น โดยในผู้ที่ใช้กาเฟอีนเป็นประจำหรือติดกาเฟอีนไปแล้ว เวลาจะหยุด ควรค่อยๆ ลดขนาดลงในเวลา 1-2 สัปดาห์ ไม่หยุดกินทันที เช่น ว่าปกติดื่มกาแฟวันละ 4 แก้ว สามวันแรกอาจลดเหลือวันละ 3 แก้ว สามวันถัดไปเหลือ 2 แล้ว สามวันต่อไปเหลือ 1 แก้ว แล้วจึงค่อยหยุด เป็นต้น ส่วนในผู้ที่ยังไม่ถึงกับติดก็ควรป้องกันโดยไม่ควรกินกาเฟอีนในระดับสูง และ/หรือไม่ควรกินหลายๆ วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดไมเกรนชนิดที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ ก็ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ติดกันทุกวันเป็นเวลานานๆ เช่นกัน เพราะจะเกิดอาการถอน และทำให้ปวดศีรษะได้เมื่อหยุดกิน

ใครไม่ควรกินกาเฟอีน
      แม้ว่าผลการศึกษาการใช้กาเฟอีนในระยะยาว (ในขนาดปานกลาง) จะไม่พบว่าทำให้เกิดโรคหรือความผิดปกติใดๆ ที่ชัดเจนในคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็มีข้อห้ามใช้กาเฟอีนสำหรับผู้ป่วยบางโรคดังต่อไปนี้ 
      - ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะลำไส้ เช่น โรคกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน และโรคกรดไหลย้อน เพราะกาเฟอีนจะไปเพิ่มการทำงานของกระเพาะและลำไส้ รวมทั้งเพิ่มการหลั่งกรด ทำให้โรคมีอาการมากขึ้น
      - ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
      - ผู้ที่เป็นโรคทางด้านจิตเวช ได้แก่ โรควิตกกังวลและโรคแพนิค เพราะจากการศึกษาพบว่าทำให้อาการเป็นมากขึ้นได้ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับก็ไม่ควรใช้เช่นกัน ส่วนในผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) และโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) แม้การได้รับกาเฟอีนในขนาดไม่มากจะไม่ได้ทำให้อาการแย่ลงก็จริง แต่บางการศึกษาพบว่าหากได้รับกาเฟอีนในขนาดที่สูงจะทำให้อาการทางจิตกำเริบได้

      กล่าวโดยสรุปก็คือ กาเฟอีนในขนาดที่เหมาะสมมีข้อดีหลายประการ แต่ในขนาดที่มากเกินไปก็ทำให้เกิดโทษได้หลายอย่าง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เราต้องเรียนรู้ถึงแหล่งที่มา เพื่อที่จะรู้จักควบคุมการบริโภคให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นพิษ หรือติดกาเฟอีน หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรหากเกิดอาการเป็นพิษ หรือจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเสพอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ต่อไปได้อย่างสบายใจและเป็นสุข

15 ม.ค. 56 เวลา 16:38 1,938 1 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...