พาเที่ยว สปป.ลาวในมุมที่เปลี่ยนไป

 

 

 

 

 

พาเที่ยว สปป.ลาวในมุมที่เปลี่ยนไป

 

 

วัดพระธาตุหลวงที่นครหลวงเวียงจันทน์


แม้จะไปสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.)ลาวหลายครั้งหลายหน แต่ถ้าใครชวนไปอีกก็ไม่ปฏิเสธ เพราะการไปประเทศในกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์และเวียดนาม ทำให้ได้รู้ได้เห็นการพัฒนาในแต่ละย่างก้าวของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะสปป.ลาวนั้น ต้องบอกว่าเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อหลายปีก่อนบริษัทอีซูซุฯ เคยชวนนั่งเครื่องไปอุดรธานีแล้วนั่งรถเข้าหนองคายผ่านด่านตม.เข้าไปยังเวียงจันทน์ ค้างวังเวียงหนึ่งคืนก่อนจะไปยังหลวงพระบาง

 

 

 

 บ้านชนเผ่าเปลี่ยนไป


 ตอนนั้นจำได้ว่าสองข้างทางบนภูเขาเต็มไปด้วยบ้านเรือนของชนเผ่า โดยเฉพาะพวกม้งและขมุที่มุงด้วยหญ้าแฝก ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ดูแล้วยังอยู่กันแบบพอมีพอกินตามอัตภาพของคนบนที่สูง แต่มาบัดนี้บ้านพวกชนเผ่าส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนหลังคามุงกระเบื้องสีสันสดใส มีร้านค้าอยู่เป็นหย่อมๆเพื่อรองรับนักเดินทางจากแดนไกล  ยังเหลือบ้านแบบเก่าๆที่มุงด้วยหญ้าแฝกและสังกะสีอยู่บ้าง….นี่เป็นความเจริญที่ผิดหูผิดตาจริงๆ แสดงว่าชนเผ่าทั้งหลายมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพราะหลายรายหันมาสู่อาชีพบริการ เห็นได้จากจำนวนรถมอเตอร์ไซค์และรถปิคอัพที่จอดอยู่ตามบ้านเรือน


   ล่าสุดในช่วงฤดูฝนนี้ เมื่อเร็วๆนี้ อีซูซุ ก็ชวนเข้าร่วม“อีซูซุ ซูเปอร์คอมมอนเรล คาราวานสัญจร” 2555 เส้นทางที่ 4 : ไทย (หนองคาย) – ลาว โดยทำพิธีเปิดกันที่โชว์รูม ห.จ.ก.เฮียบหงวนมิลเลอร์ สาขาหนองคาย มีผู้บริหารของอีซูซุเข้าร่วมคือ มร.เอ.สุกียาม่า ผู้จัดการอาวุโส คุณวิวัฒ เมธีวรรณกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายและคุณธัญภา นิโครธานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานหนองคายมาร่วมเปิดงาน

 

 

                  บ้านเรือนของชนเผ่าที่เริ่มเปลี่ยนเป็นหลังคามุงกระเบื้อง

 

 

  คาราวานรถเกือบ 30 คัน วิ่งผ่านรอบนอกของกำแพงนครหลวงเวียงจันทน์มุ่งหน้าไปยังวังเวียง ระยะทาง 156 กิโลเมตร เพื่อต่อไปยังโพนสะหวัน เมืองเอกของแขวงเชียงขวาง ซึ่งการไปในหน้าฝนนี้ก็ต้องทำใจ เพราะบางช่วงเป็นถนนลูกรังขรุขระไม่ใช่ถนนลาดยาง  อีกทั้งเป็นเส้นทางที่ต้องไต่ภูเขาสูงหลายร้อยกิโล รวมแล้วจากเวียงจันทน์กว่าจะไปถึงหลวงพระบางต้องผ่านโค้งแล้วโค้งเล่า ทำเอาคนเมารถ อ๊วกไปหลายราย

 

  อย่างไรก็ตามแม้จะต้องเจอกับปัญหาดินสไลด์ข้างทางเป็นระยะๆแต่ต้องชมการตัดสินใจของ”คุณพัฒนเดช สรรพกิจอาสา” ผู้อำนวยการคาราวานฯที่ตัดสินใจให้ชาวคณะกินข้าวเย็นรองท้องกันก่อน ในช่วงที่ดินสไลด์จากภูเขาจนรถน้อยใหญ่ไม่สามารถผ่านไปยังเมืองโพนสะหวันและหลวงพระบางได้ ต้องนั่งรอกันหลายชั่วโมงกว่าแขวงหลวงพระบางจะจัดการปัญหานี้ได้ แต่ปัญหานี้คนลาวที่สัญจรไปมาเส้นนี้ไม่ได้ตื่นเต้นหรือตกใจกลัวกันนักเพราะล้วนเคยเจอกันมาแล้ว

 

 


ร่องรอยของสงครามอินโดจีน


เมืองโพนสะหวันในเวลานี้นั้นถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของสปป.ลาว ใครๆก็รู้จัก”ทุ่งไหหิน” ในขณะที่อดีตที่นี่เป็นสมรภูมิสู้รบดุเดือดระหว่างสปป.ลาว และเวียดนามกับกองทัพของสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจทีเดียว

 


จุดแรกสำหรับคนชอบตื่นแต่เช้าก็คือตลาดโพนสะหวัน ซึ่งคนในเมืองอย่างพวกเราอาจจะตื่นเต้นแกมสงสารที่ต้องเห็นภาพ เก้ง กระรอก ตุ่น อ้น ตัวอ่อนต่อหลุม บางตัวถูกแร่เสร็จเรียบร้อยพร้อมจะนำไปปรุงอาหารได้เลย แต่บางตัวอย่างเจ้ากระรอกน้อยยังนอนในสภาพลมหายใจรวยรินพร้อมจะจากโลกนี้ไปอย่างง่ายดาย นี่แสดงให้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรายังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิงสาราสัตว์ น่าอิจฉาจริงๆ ดังนั้นถ้าใครอยากให้ลูกหลานได้เห็นสัตว์ที่ว่าต้องพามาดูตัวจริงที่สปป.ลาว

 

สุดถนอม หรือ”ปูเป้” ไกด์สาวลาวร่างใหญ่ใจดี เป็นคนพาชมตลาด พร้อมอธิบายให้ฟังอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องเห็ดหวาย เห็ดที่ว่ากันว่ามีสรรพคุณแก้โรคมะเร็งได้เยี่ยมยอดขนาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นต้องเดินทางมาเมืองนี้เพื่อมากิน มาซื้อเห็ดดังกล่าวกันเลยทีเดียว  วันที่ไปนั้นไม่มีเห็ดสดให้ดู มีแต่เห็ดแบบตากแห้งใส่ถุงขาย ราคาแพงจนซื้อไม่ลง แค่ไม่กี่ขีดก็ปาเข้าไป 500 บาทแล้ว

 

 

          ร้านในโพนสะหวันนำซากลูกระเบิดมาตกแต่ง


  ในตัวเมืองโพนสะหวันนั้น มีร้านอาหารและร้านบริการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก หลายร้านนำลูกระเบิดมาเป็นเครื่องประดับตกแต่งร้าน บางร้านนำมาเขียนเป็นป้ายชื่อร้าน ทำที่ย่างบาบีคิว ขณะที่บางบ้านก็นำลูกระเบิดขนาดใหญ่มาใช้เป็นทำเป็นรั้วบ้าน บางบ้านนำมาปลูกผัก นักท่องเที่ยวจากเมืองไทยเห็นเป็นของแปลกถ่ายรูปกับซากลูกระเบิดกันยกใหญ่


 แม้สงครามอินโดจีนที่สหรัฐอเมริกา ทิ้งลูกระเบิดชนิดB-52 จะจบลงหลายสิบปีแล้ว แต่ผลของสงครามโหดร้ายก็ยังเหลือร่องรอยอยู่ นั่นก็คือฝนเหลืองทำให้ภูเขาแถบนั้นโล้นอยู่นับจำนวนไม่ถ้วน มองไปที่ไหนก็เห็นแต่ภูเขาหัวโล้นจนทำให้นักเดินทางอย่างพวกเราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเจ้าในเหลืองถึงมีพิษภัยมากขนาดนั้น


  อย่างที่บอกเมืองโพนสะหวันหรือที่รู้จักกันในนามทุ่งไหหิน (Plain of   jars) อันเป็นไฮท์ไลท์ของที่นี่ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปดูไหหินกลุ่มที่ 1 ที่อยู่ห่างจากตัวเมือง  7.5 กิโลเมตร ไหหินเหล่านี้ทำด้วยหินทรายกระจัดกระจายอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆประมาณ 200 ใบและมีขนาดใหญ่กว่าในกลุ่มอื่นๆ โดยไหที่มีน้ำหนักมากสุดถึง 15 ตัน ส่วนใบที่เล็กที่สุดหนักประมาณ 40 – 50 กิโลกรัม

 

 

 

ทุ่งไหหินในมุมกว้าง


ความลี้ลับของทุ่งไหหินนี้ ยังเป็นปริศนาอยู่ แม้สปป.ลาวกับญี่ปุ่นจะร่วมกันศึกษาค้นคว้าวิจัยก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าไหหินที่มีอายุ 2,500-3,000 ปีเหล่านี้ สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ดังนั้นเลยวิเคราะห์กันในหลายแนวทางอาทิ ค้นพบว่าบางไหมีโครงกระดูกมนุษย์ หรือพบลูกปัดจากจีน เครื่องประดับของชนเผ่าไท และรูปสำริดของเวียดนาม นักโบราณคดีบางคนจึงเชื่อว่าเพื่อการทำพิธีศพ แต่บ้างก็เชื่อว่าเป็นที่บรรจุใส่เหล้าของนักรบโบราณในสมัยขุนเจือง


ช่วงที่อยู่ทุ่งไหหิน เสียงไกด์ไทยและไกด์ลาว ต่างย้ำหนักย้ำหนาว่าให้เดินในเส้นทางที่ระบุไว้ ห้ามเดินนอกเส้นทางเพราะยังมีกับระเบิดอยู่ ทางการลาวร่วมมือกับโครงการ MAG ของอังกฤษมาทำการกอบกู้ระเบิดที่มีอยู่ทั่วไปในแขวงเชียงขวางและบริเวณใกล้เคียง


 ลืมบอกไปว่าถ้าใครไปนอนในโรงแรมที่เมืองโพนสะหวัน อย่าได้คิดหรือขอห้องนอนติดแอร์ล่ะ เพราะที่เมืองนี้เขาไม่ใช่แอร์กัน มีแต่พัดลม ใครขี้ร้อนก็แย่หน่อย แต่อากาศเย็นสบายจริงๆ แม้จะไปหน้าฝนแต่กลางคืนอากาศหนาวเย็น ประเภทต้องห่มผ้าห่ม

 

           ตัวตุ่นเป็นๆที่ตลาดเมืองโพนสะหวัน

 

 

 


 

 

แม้การไปคาราวานแบบนี้จะต้องใช้เวลาไต่เขาหลายชั่วโมงกว่าจะถึงหลวงพระบาง เพราะต้องรับประทานอาหารกลางวันระหว่างทางและเข้าห้องน้ำด้วยนั้น แต่ด้วยความที่สองข้างทางเต็มไปด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ทำให้เพลิดเพลินเจริญตายิ่งนัก และแถมยังได้จอดรถไปถ่ายรูปชนิดที่บ้านเราไม่มีให้เห็นอาทิ การ “อาบน้ำสามัคคี” โดยทางการจะสร้างบ่อน้ำใหญ่ไว้ใช้สอยร่วมกัน พอตกเย็นจะเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปอาบน้ำกันอย่างสนุกสนาน ที่แก้ผ้าก็มีแต่เด็กเล็กๆเท่านั้น ส่วนสาวๆก็นุ่มกระโจมอกน่ารักจริงๆ

 

 

 

พิพิธภัณฑ์ที่หลวงพระบาง

 


 
นักท่องเที่ยวไทยอันดับหนึ่ง


  วันนั้นคณะคาราวานไปถึงหลวงพระบางช่วงเย็น เลยมีเวลาไปเดินเล่นที่ถนนคนเดิน แม้ฝนตกแต่ก็พอเดินได้ ชนเผ่าต่างๆนำสินค้ามาวางขาย  ไม่ว่าจะเป็นพวกงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่วงที่เดินอยู่จะได้ยินเสียงนักท่องเที่ยวไทยจำนวนไม่น้อยกำลังเลือกซื้อสินค้าอยู่  ซึ่งแต่ละคนก็ต่อรองราคากันแบบสุดๆ เพราะคงรู้มาก่อนว่าจะต้องต่อให้มากเข้าไว้ แต่ถ้าจะว่ากันไปแล้วสินค้างานฝีมือของชนเผ่าราคาถูกมากทีเดียว ถ้าเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันกับในบ้านเราอย่างที่ปายหรือเชียงใหม่


  บรรยากาศของหลวงพระบางในยามค่ำคืน นอกจากจะคึกคักตรงถนนคนเดินแล้ว  ตามร้านอาหารที่เงียบเหงาในตอนกลางวันก็กลับมามีชีวิตชีวาในยามพระอาทิตย์ลาลับด้วยฝรั่งหัวแดงหลายสัญชาติ ชาวตะวันตกเหล่านั้นดินเนอร์จิบเบียร์กันแบบสบายๆ

 

แม่ค้าบนถนนคนเดินที่หลวงพระบาง

 


  ช่วงที่ไปแม้จะเป็นหน้าฝน แต่โรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่มีอยู่ดาษดื่นต่างเต็มหมด ต้องจองล่วงหน้ากันหลายเดือนทีเดียว นี่ชี้ให้เห็นว่าเมืองมรดกโลกแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตจริงๆ โดยเฉพาะนักเดินทางจากไทยถือเป็นอันดับหนึ่ง


 โปรแกรมสำคัญของการไปทัวร์อดีตราชธานีของอาณาจักรล้านช้าง เช้ามืดจะมีการตักบาตรข้าวเหนียวกัน  หลังจากนั้นก็เดินเที่ยวตลาดเช้า ซึ่งมีทั้งของกินของใช้สารพัด ที่นี่สามารถใช้เงินไทยได้อย่างสบายๆ ช่วงหน้าฝนแม่ค้าจะนำเห็ดสารพัดสีทั้งขาว ดำ แดงและเหลืองขายเต็มไปหมด


   ถ้าเดินชมตลาดกันพอสมควรแล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่นิยมไปกันก็คือ ร้านกาแฟโบราณ “ประชานิยม” ที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง  ซึ่งนอกจากจะจิบกาแฟกับปาทังโก้จนได้ที่แล้ว ถ้ายังไม่อิ่มก็สามารถสั่งเฝอหรือข้าวเหนียวไก่ย่าง ปลาย่างจิ้มแจ่ว เพิ่มเข้าไปในท้องได้อีกด้วย แต่เห็นเป็นร้านธรรมดาๆอาศัยร่มเงาใต้ต้นมะม่วงใหญ่อย่างนี้เถอะ ราคาขายก็ไม่เบานะ เพราะในสปป.ลาว เฝอชามละ 50-60 บาท เป็นเรื่องปกติ

 

 

 

 

 

 

โปรแกรมสำคัญอีกโปรแกรมคือต้อง “วัดเชียงทอง” อันเป็นวัดหลวงคู่เมืองหลวงพระบาง ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช โปรดให้สร้างขึ้น จากนั้นก็ไปชม พระราชวังหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ นมัสการ พระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล และชม อนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่อนุญาตให้นำกล้องเข้าไปถ่ายรูป


 นี่เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับทัวร์ที่มีเวลาอยู่หลวงพระบางแค่คืนเดียว เพราะหลังจากนั้นต้องเดินทางเข้าวังวียงเมืองท่องเที่ยงชื่อดังอีกแห่งของสปป.ลาว อยู่ห่างจากหลวงพระบางถึง 210 กิโลเมตร โดยผ่านเมืองต่างๆคือกาสี เมืองพูคูน และเมืองกิ่วกระจำ

 

 


เปรียบวังเวียงถนนข้าวสาร


 วังเวียง หรือที่รู้จักกันในนาม” กุ้ยหลินเมืองลาว” วันนี้ เปลี่ยนไปอย่างผิดหูผิดตา นักท่องเที่ยวหลายคนถึงกับออกปากว่า ตอนกลางคืนบรรยากาศเหมือนถนนข้าวสารของเราอย่างไรอย่างนั้น เพราะเต็มไปด้วยฝรั่งแบกแพ็ค นั่งถองเบียร์ในร้านบาร์เบียร์กันเต็มไปหมด


 แม้จะค้างที่วังเวียงแค่คืนเดียว แต่ก็มียังไปเดินสำรวจราตรี เลยทำให้ได้เห็นฝรั่งวัยหนุ่มสาวเมากัญชา เมาเหล้าทะเลาะกันเสียงดังเอะอะ แบบนี้เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวรักสายลมและสายแดดจะไม่โปรดวังเวียงเหมือนในอดีต ซึ่งฝรั่งแบ็คแพ็คยังไม่ได้ไปยึดวังเวียงเช่นทุกวันนี้


อย่างที่บอกไปวังเวียงเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของลาว และยังมีอนาคตสดใสไปอีกนาน เห็นได้จากจำนวนโรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมทั้งโรงแรมบูติกด้วย

 

 

 วิวสวยๆริมแม่น้ำซองที่วังเวียง


 นอกจากร้านบาร์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวังเวียงเปลี่ยนไปจากเดิมมากถึงมากที่สุด คือแหล่งบันเทิงเริงรมย์และตู้เอทีเอ็ม ร้านนวดนับสิบแห่งจากแต่ก่อนที่ไม่มี รถเข็นขายเครปและขายขนมปังฝรั่งเศสใส่ไส้มากกว่าสิบเจ้า ชีวิตกลางคืนที่นี่ไม่เงียบเหงาแน่สำหรับคนที่ชอบแสงสีเสียง

 

 

ร้านรวงที่ขายเสื้อผ้ารองเท้าและสิ่งของต่างๆเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนทีอพยพมาอยู่ที่นี่ เพราะเห็นช่องทางทำมาหากิน


ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของร้านนวดหลายราย แต่ละรายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การเปิดร้านนวดเป็นธุรกิจที่ไปได้สวย ซึ่งจะให้บริการทั้งนวดลาว นวดไทย นวดจีน และนวดสวีดิช ถ้าเป็นนวดไทยจะหนักสุด ส่วนนวดจีนจะเป็นการกดจุด มีลูกค้ามาใช้บริการตลอด เขาคิดไม่แพงนวดชั่วโมงละ 120 บาท โดยทางร้านจะแบ่งให้หมอนวดคนละครึ่ง บางร้านจะมีบริการประคบด้วย แต่ก็เพิ่มราคาเข้าไป หมอนวดลาวแต่งตัวตามสบายไม่ต้องมีฟอร์มอะไรเหมือนเมืองไทย


เชื่อว่าถ้าไปวังเวียงในช่วงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีที่มีผลบังคับใช้ในปลายปี 2558 คงได้เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้อีกแน่นอน

 

 

เรื่อง/ภาพ   ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง  srangbun@hotmai

20 ก.ย. 55 เวลา 14:16 3,779 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...