รู้ทันภัย “ความรุนแรงในสังคม”แนะวิธีหลีกเลี่ยงก่อนเป็นเหยื่อ!

ยังคงมีให้เห็นกันบ่อยครั้ง สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย จี้ ปล้นชิงทรัพย์ รุมทำร้ายร่างกายกัน ยกพวกตีกัน และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ป้องกันได้ยาก แต่หากเรารู้จักหลบเลี่ยงที่จะไม่ตกเป็นเหยื่ออาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่าหรือไม่...อย่างไร!?

พ.อ.หญิง กนกวรรณ ศรีไชยะ หรือ ครูตุ่น ครูฝึกประจำกอง 8 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เจ้าของสถาบันฝึกป้องกันตัว ชมรมต่อสู้ป้องกันตัวอรรถยุทธ์ ศูนย์กีฬากองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวถึงภาพรวมความรุนแรงในสังคมไทยว่า ความรุนแรงมีอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหนจะมีข่าวความรุนแรงมาก ๆ ผู้รับรู้ข่าวสารก็จะตื่นตัวขึ้นทีหนึ่ง ซึ่งข่าวความรุนแรงไม่ใช่มีแค่ในเมืองไทยเท่านั้น ต่างประเทศก็มีให้เห็นในหลายประเทศและรุนแรงมากกว่าประเทศไทยเสียอีก แต่ถ้าเรารู้จักติดตามข่าวสารเป็นประจำก็จะทำให้เราตื่นตัวและรับรู้ว่ามีภัยรุนแรงแบบไหนเกิดขึ้นบ้างในสังคม และสถานที่ใดเกิดเหตุบ่อย ๆ อย่างเช่น ข่าวตำรวจออกมาแจ้งเตือนว่ามี 10 ซอยอันตราย เมื่อเราทราบแล้วจะได้หลีกเลี่ยงแต่ต้องอัพเดทข่าวเรื่อย ๆ เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงได้

ภัยความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายสาเหตุ โดยหลัก ๆ ได้แก่ 1. เรื่องทรัพย์สิน จึงเกิดเป็นคดีและเป็นข่าวให้เรารับทราบอยู่บ่อย ๆ 2. เรื่องเพศ คือต้องการข่มขืน เพราะถ้าเหยื่อเป็นผู้หญิงก็จะมีคดีทางเพศร่วมด้วย 3. ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นภัยความรุนแรงที่ป้องกันได้ยาก เพราะคู่กรณีหรือศัตรูเป็นผู้ที่รู้จักเรา สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้ และ 4. เรื่องลูกหลง ปัจจุบันต้องเพิ่มขึ้นมาอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นจากเราโดยตรง เป็นการที่เราไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย แต่เข้าไปอยู่ในสถานที่แห่งนั้น ทำให้ได้รับอันตรายจนถึงขั้นบาดเจ็บหรือสาหัส และรุนแรงที่สุดคือเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกลูกหลงโดยบังเอิญมักจะโดนหนักถึงขั้นเสียชีวิตบ่อย ๆ เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงไม่ได้ระมัดระวังตัว

หากถามว่าทำอย่างไรจะรอดพ้นจากการถูกลูกหลง คือต้องติดตามข่าวสารบ่อย ๆ และไม่เดินทางไปในสถานที่ที่เป็นอันตรายนั้น แต่หากเรามีความจำเป็นจะต้องเดินทางหรือใช้เส้นทางนั้นจริง ๆ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง หัดสังเกต และรู้จักทางหนีทีไล่ เช่น สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทางว่านอกจากสถานที่ที่ควรจะหลบหลีกแล้วยังต้องหาสถานที่ที่ปลอดภัยด้วย เพราะหากเราได้รับบาดเจ็บควรไปสถานพยาบาลก่อนไปสถานีตำรวจ ซึ่งถ้าเราวางแผนการเดินทางและสำรวจเส้นทางการเดินทางไว้แล้วจะทำให้ทำอะไรได้เป็นลำดับขั้นตอนอย่างไม่ตกใจ

ในเมื่อเราห้ามภัยต่าง ๆ ไม่ได้ เพราะการจับคนร้ายเป็นเรื่องของบ้านเมือง แต่สิ่งที่ทำได้เร็วที่สุดคือการวางแผนป้องกันตัวเอง เริ่มจากปลูกจิตสำนึกให้รู้จักระวังภัยให้ตัวเองก่อน ไม่ใช่แค่ภัยที่เกิดจากมนุษย์เท่านั้นแต่อยากให้คิดถึงภัยจากอุบัติเหตุด้วย เพราะเป็นภัยที่ทำให้เราได้รับอันตรายได้เช่นกัน เช่น รถชน ตกน้ำ ไฟไหม้ น้ำท่วม ซึ่งวิธีป้องกันก็ใช้หลักการเดียวกันได้หมด นอกจากการติดตามข่าวสารแล้ว ควรวิเคราะห์ข่าวด้วยว่าความรุนแรงเรื่องนี้มีมูลเหตุมาจากอะไร และนำไปแจ้งเตือนให้คนข้างเคียง เช่น คนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ได้รับรู้

การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นเครื่องมือในการเตือนภัยก็ถือว่าเป็นข้อดี แต่อย่าให้กลายเป็นแฟชั่นขอให้เป็นเรื่องของการแจ้งเตือน ว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วเราควรทำยังไง เช่น การโดนกระชากกระเป๋า ควรย้อนกลับไปคิดก่อนว่าจะทำยังไงไม่ให้เราถูกกระชากกระเป๋า ไม่ใช่คิดว่าเมื่อถูกกระชากกระเป๋าแล้วควรทำเช่นไร โดยเริ่มจากการระมัดระวังการถือกระเป๋า ไม่ควรถือไว้ข้างที่อยู่ติดถนนเพราะเป็นจุดล่อแหลม หรือถ้ารู้สึกว่ามีคนเดินตามข้างไหนก็ให้เปลี่ยนฝั่งสะพายกระเป๋าไปอีกด้านหนึ่ง แค่นี้ก็จะทำให้คนร้ายก่อเหตุยากขึ้นแล้ว ส่วนข้อคิดต่อมาคือ ถ้าหากเราถูกกระชากกระเป๋าแล้วควรทำยังไง เช่น ถูกจี้เอาทรัพย์สินก็ควรให้เขาไปดีกว่าต่อสู้ หรือถ้าเราสามารถวิ่งหนีได้ทันควรคิดก่อนว่าจะหนีไปทางไหน ถ้าเรามีการศึกษาวางแผนไว้ก่อนเชื่อว่าทำได้แน่นอน

สำหรับการนั่งรถแท็กซี่ถ้าจำเป็นต้องนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านคนเดียวทุกวัน ควรเลือกที่รู้จักหรือใช้บริการจากศูนย์แท็กซี่ หรือถ้ารู้ว่าจะต้องใช้บริการไว้ล่วงหน้าอาจชวนเพื่อนไปด้วย หรือหากเห็นหน้าคนขับรถแท็กซี่แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ควรเปลี่ยนคันใหม่ เมื่อขึ้นไปนั่งแล้วก็พยายามจดจำใบหน้าคนขับ จำหมายเลขทะเบียนรถ การนั่งเบาะหลังในรถแท็กซี่ถือว่าปลอดภัยอยู่แล้ว หากมีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็หลบหนีได้ทัน ซึ่งคนขับรถแท็กซี่จะเสียเปรียบเรา เพราะเขากำลังขับรถอยู่ หรือถ้าเป็นรถตู้ก็ยิ่งปลอดภัยใหญ่เพราะอยู่คนละส่วนและคนละประตู แต่ที่ตกเป็นเหยื่อตามที่เป็นข่าวเพราะนั่งข้างคนขับทั้งนั้น

ส่วนรถโดยสารประจำทาง เมื่อก่อนมักมีข่าวว่านั่งรถเมล์แล้วถูกกระเป๋าลวนลามหรือปลุกปล้ำ ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้น้อย นอกจากจะเป็นเวลากลางคืนหรือเราอยู่ปลายทางแล้วเท่านั้น คือ กรณีแบบนี้ถ้ามีผู้โดยสารลงจากรถหมดแล้วก็ใช่เรื่องที่เราจะนั่งต่อไปคนเดียวกับกระเป๋ารถเมล์และคนขับ ถ้าลงจากรถแล้วไปขึ้นคันอื่นที่มีผู้โดยสารเป็นเพื่อนร่วมทางหลาย ๆ คน บางทีอาจเสียเวลานิดหน่อยก็ดีกว่าจะต้องเอาตัวเองไปเสี่ยง แค่นี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงภัยความรุนแรงได้แล้ว

กรณีนักเรียนตีกันก็ถือเป็นเรื่องของความรุนแรงที่ต้องมีหลายหน่วยงานหลายสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องดูแล แต่ในการระวังตัวเอง ถ้าเป็นตัวนักเรียนเองควรระวังไม่ไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีศัตรูหรือมีการตีกัน ที่สำคัญถ้าเราเริ่มตั้งแต่ที่สถาบันครอบครัวช่วยกันอบรมลูกหลาน และหากสามารถเลือกสถานศึกษาให้ลูกได้ ควรเลือกโรงเรียนหรือสถาบันที่ไม่มีเรื่องทะเลาวิวาทกันบ่อย ๆซึ่งหากเราติดตามข่าวสารก็จะทราบ แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ควรอบรมเขาให้เป็นผู้นำตัวเอง อย่าตามเพื่อนและอย่าอยู่ใกล้หรือคบค้าสมาคมกับคนที่จะนำไปสู่อันตราย

อย่างไรก็ตามแนวทางการป้องกันก่อนเกิดเหตุและระหว่างเกิดเหตุนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี ในเรื่องของ วิชาการต่อสู้ป้องกันตัว ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมให้เราปลอดภัยมากขึ้น เพราะถ้าเรามีวิชานี้ก็สามารถป้องกันตนเองได้ อย่าคิดว่าเกิดเหตุร้ายแล้วจะมีคนเข้ามาช่วย เพราะบางทีอาจจะไม่มี หรือมาช่วยเมื่อสายไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องช่วยเหลือตัวเองเท่าที่เราทำได้ก่อน คือ หนี เพราะการร้องให้คนช่วยถ้าไม่มีคนมาช่วย เราจะถูกจัดการเร็วขึ้นเพื่อให้เงียบเสียง หรือเวลาเราอยู่บ้านหรืออพาร์ตเมนต์คนเดียวก็อาจไม่มีใครมาช่วย จึงต้องช่วยตัวเองเป็นอันดับแรก วิชาการต่อสู้ป้องกันตัวนี้ไม่ต้องถึงกับฝึกให้เก่ง แต่แค่ทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากการถูกทำร้าย เช่น ถูกบีบคอ ถ้าเรารู้วิธีก็จะไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญต้องมีสติไม่กลัวและไม่ตกใจ

ถ้าทุกคนรู้จักระวังตัวเองไม่คิดหวังพึ่งคนอื่น รู้จักวางแผนในชีวิตของตัวเองโดยเพิ่มแผนป้องกันเหตุร้ายและความรุนแรงต่าง ๆ นี้เข้าไปในแผนการดำเนินชีวิตของตัวเอง ทั้งแผนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์และจากอุบัติเหตุ เช่น วางแผนการใช้เส้นทาง การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และการมีวิชาป้องกันตัวก็จะเป็นตัวเสริมที่ดี หากมีได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เมื่อเรารู้จักระวังตัวเองแล้วความรุนแรงก็จะลดไปเอง เพราะการจะไปห้ามหรือลดจำนวนผู้ร้ายคงยาก แต่ที่ง่ายกว่าคือการที่เราทำตัวเองให้ปลอดภัย รู้จักวิธีป้องกันและไม่ออกไปเป็นตัวล่อก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ!.

.........................................

ฝึกอบรมวิชาป้องกันตัวฟรี..!! ปลอดภัยทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน

ชมรมต่อสู้ป้องกันตัวอรรถยุทธ์ เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้หญิง จึงขอพระอนุญาตพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงได้รับการยกย่องเป็นองค์ทูตสันตวไมตรีในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงของกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN women) ให้ชมรมต่อสู้ป้องกันตัวอรรถยุทธ์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยการเข้าไปช่วยสอนการป้องกันตัวให้กับเด็กและสตรีทุกเดือนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นอกจากนี้ชมรมต่อสู้ป้องกันตัวอรรถยุทธ์ ยังเล็งเห็นความสำคัญของภัยความรุนแรงในสังคมไทยต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้น จึงได้จัดอบรมวิชาการป้องกันตัวเองให้ฟรี...!! แก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งทหารและตำรวจที่สนใจด้วย โดยจะจัดอบรมในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2555 นี้ โดยเนื้อหาการฝึกเริ่มแรกจะบรรยายเพื่อให้ความรู้ถึงภัยรูปแบบต่างๆ ก่อน จากนั้นจึงสอนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ เพื่อให้ฝึกฝนกันเอาไว้ป้องกันตัว หากผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook /เพื่อนักรบไทย หรือติดต่อสอบถามเพื่อลงทะเบียนอบรมวิชาการป้องกันตัวได้ที่ 08-5818-1300 หรือ 08-0290-1536

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...