มารู้จัก"จีนา ไรน์ฮาร์ท": (ว่าที่)ผู้หญิงที่รวยที่สุดในโลก

ตามข้อมูลของนิตยสารธุรกิจชื่อดังฉบับหนึ่ง ระบุว่า ผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ไม่ใช่"โอปราห์ วินฟรีย์" เจ้าแม่ทอล์คโชว์ชาวสหรัฐฯ ไม่ใช่"สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" แห่งอังกฤษ และไม่ใช่ "ลิเลียน เบทเทนคอร์ท" ทายาทของบริษัทด้านความงามของฝรั่งเศสอย่าง"ลอริอัล" แต่กลับเป็นผู้หญิงที่ชื่อของเธอไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก นั่นก็คือ "จีนา ไรน์ฮาร์ท" เจ้าแม่เหมืองแร่ชาวออสเตรเลีย

 


 

แล้วเธอคือใคร?

 


 

 


 

เมื่อถามถึงเรื่องสวยงามในชีวิตเธอ ย่อมไม่ใช่สร้อยไข่มุกที่เธอมักสวมเวลางาน และไม่ใช่ภูมิประเทศอันงดงามในเขตพิบารา ในรัฐออสเตรเลียตะวันตก แต่กลับเป็นหลุมขนาดใหญ่กลางแผ่นดินร้อนแล้งของออสเตรเลีย อันเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่เหล็ก ที่เป็นแหล่งทำเงินให้ครอบครัวของเธอ

 

เมื่อปี 2011 นิตยสารฟอร์บส์ เปิดเผยอันดับมหาเศรษฐีออสเตรเลีย ปรากฏว่า จีนา ไรน์ฮาร์ท ครองอันดับ 1 ซึ่งทำให้เธอครองอันดับ 1 บุคคลร่ำรวยที่สุดในเอเชียและแปซิฟิกด้วย ความมั่งคั่งของนางไรน์ฮาร์ทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หลังจากไม่กี่เดือนก่อนเธอขายหุ้น 15% มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัทเหมืองแร่เหล็ก รอย ฮิลล์ ของเธอ ในเขตพิลบารา ให้บริษัทพอสโก ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเหล็กกล้าของเกาหลีใต้

 

ฟอร์บส์เชื่อว่านางไรน์ฮาร์ทจะแซงหน้างนางคริสตี้ วอลตัน ภรรยาหม้ายของนายจอห์น วอลตัน ทายาทของแซม วอลตัน ผู้ก่อตั้งเครือข่ายห้างค้าปลีกวอลล์ มาร์ท ขึ้นเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยขณะนี้นางวอลตันมีสินทรัพย์สุทธิ 24,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


 

 

 

 

ย้อนกลับไปในปี 1952 เมื่อพ่อของเธอ "แลงก์ลีย์ แฮนค็อก" ค้นพบหนึ่งในแหล่งแร่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การส่งออกสินแร่ในขณะนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามในออสเตรเลีย เนื่องจากถูกมองว่ามีความจำกัด และอาจหมดไปเมื่อใดก็ได้ แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป เหมืองแร่ในพิลบารา กลับไม่เคยหมด และมีการส่งออกไปต่างประเทศนับหลายล้านตัน

 

อย่างไรก็ดี ครอบครัวแฮนค็อก ไม่ได้เป็นผู้รับผลประโยชน์ไปแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จีนากล่าวว่า การค้นพบของพ่อเธอยังสร้างความมั่งคั่งให้แก่ออสเตรเลีย ซึ่งส่วนหนึ่งได้สร้างให้เธอเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพล และความเคารพนับถือ


 

สินทรัพย์สุทธิส่วนตัวของเธอ คาดกันว่าอยู่ที่ราว 29,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 9.28 แสนล้านบาท) ทำให้เธอก้าวขึ้นจากผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในออสเตรเลีย กลายเป็นระดับเอเชีย และระดับโลกได้ในที่สุด

 

นิตยสารธุรกิจ บีอาร์ดับเบิลยูของออสเตรเลีย ยกย่อให้เธอเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และกลุ่มซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า ไรน์ฮาร์ท วัย 58 ปี จะก้าวขึ้นสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีระดับโลก ซึ่งมีทรัพย์สินเกินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในไม่ช้า

 

ไรน์ฮาร์ท ไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า "ทายาทเหมืองแร่หญิง" เนื่องจากมองว่า เธอล้วนสร้างสิ่งต่างๆมาด้วยมือของเธอเอง หลังจากสามารถกอบกู้บริษัทหลังการเสียชีวิตของบิดาเมื่อปี 1992

 


 

 


 

นอกจากธุรกิจเหมืองแร่แล้ว เธอยังถือหุ้นในสถานีโทรทัศน์ชานแนล เท็น หนึ่งในสามสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศ มูลค่ากว่า 157 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของออสเตรเลียอย่างแฟร์แฟ็กซ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์อย่าง ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์, เมลเบิร์น เอจ และ ออสเตรเลียน ไฟแนนเชียล รีวิว ขณะที่ผู้สื่อข่าวของทั้งสามสื่อต่างวิตกว่า อาจถูกเธอใช้เพื่อเป็นกระบอกเสียง เพื่อเผยแพร่แนวคิดด้านขวาจัดของเธอ อย่างไรก็ดี เธอยังคงไม่สามารถเข้าไปนั่งในตำแหน่งบอร์ดบริหารได้ เนื่องจากความขัดแย้งที่เธอปฏิเสธที่จะยอมรับการตัดสินใจของเหล่าบรรณาธิการที่ต้องการทำงานโดยอิสระ


ด้านบริษัทของเธอ "แฮนค็อก พรอสเพ็คติ้ง" ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของเธอ และแทบไม่มีงานอดิเรกเช่นเดียวกับมหาเศรษฐีรายอื่น อาทิ การสะสมงานศิลปะ หรือการสะสมเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เนื่องจากทราบกันโดยทั่วไปว่าเธอเป็นคนทำงานตัวเป็นเกลียว วันละ 24 ชม. สัปดาห์ละ 7 วันไม่มีวันหยุด ท่ามกลางปัญหาและข้อขัดแย้งบุคคลใกล้ชิดและญาติพี่น้องของเธอเอง นับตั้งแต่บิดาผู้ล่วงลับ ซึ่งรวมถึงสามีคนแรกของเธอ แม่เลี้ยงชาวฟิลิปปินส์ และลูกๆทั้งสามคน

 

ด้านมุมมองทางการเมือง เธอนิยมในทั้งแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม วีรสตรีคนแรกของเธอ คือนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกฯหญิงเหล็กจากอังกฤษ ทั้งคู่พบกันครั้งแรกเมื่อปี 1977 และหลังจากนั้น ส่งผลต่อแนวคิดด้านการแต่งตัวของเธอนับตั้งแต่นั้น

 

หุ้นของเธอในช่องชานแนล เท็น มูลค่ากว่า 165 ล้านดอลลาร์ ลดมูลค่าลงไปมากกว่าครึ่ง และแฟร์แฟ็กซ์ ซึ่งเพิ่งประกาศปลดพนักงานไปกว่า 1,900 คน ไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ถูกมองว่าไม่ใช่การลงทุนที่น่าประทับใจนัก แต่แรงจูงใจด้านผลกำไรกลับไม่ใช่เรื่องที่เธอคาดหวังการลงทุนของเธอหวังผลที่ลึกกว่านั้น นั่นก็คืออิทธิพลทางการเมือง

 


 

 


 

จากการที่เป็นผู้สั่งการเบื้องหลัง เมื่อสองปีก่อน เธอออกหน้า และขึ้นเป็นผู้นำในการเรียกร้องที่เรียกว่า "การฟันภาษี" และต่อต้านแผนของรัฐบาลภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกฯเควิน รัดด์ ในขณะนั้น ที่ต้องการสั่งเก็บภาษีจำนวนมหาศาลจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเหมือนคำปราศรัยของเธอจะเป็นคำสั่งประกาศิต ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา นายกฯรัดด์ โดนบีบให้ลาออก ขณะที่นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกฯคนใหม่ สั่งปรับลดภาษีในทันที

 

การเมืองและธุรกิจอาจเป็นสิ่งที่เธอควบคุมได้ แต่เมื่อว่าด้วยเรื่องครอบครัวแล้วกลับกลายเป็นปัญหาที่ชวนปวดหัว เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนจัดการทรัพย์สินที่นายแลงก์ลีย์ พ่อของเธอตั้งขึ้นเพื่อให้หลานๆของเขา กลับทำให้เธอตกอยู่ในความวุ่นวายเรื่องการฟ้องร้องทางกฎหมายกับลูกของตนเอง 3 คนจากทั้งหมด 4 คน

 

โดยกองทุนจัดการทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งตั้งขึ้นอำนวยความสะดวกในการวางแผนสำหรับการสืบทอดทรัพย์สินมรดก และเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทของเธอ มีกำหนดโอนทรัพย์สินมรดกเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเดือนที่ลูกสาวคนเล็กสุดของเธอ มีอายุครบ 25 ปีพอดี แต่กลับยืดระยะเวลาให้ลูกๆของเธอ สามารถเป็นทรัสตี หรือเจ้าของทรัพย์ตามกฎหมายในปี 2068 โดยอ้างสิทธิในการจัดการแต่เพียงผู้เดียว

 

เธอกล่าวในอีเมลที่ส่งถึงทั้งสามคนว่า พวกเขาควรจะเซ็นข้อตกลงดังกล่าวเสีย หรือไม่ก็ต้องเผชิญหน้ากับการล้มละลาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ลูกคนโตทั้งสามอย่างมาก โดยออกมาตำหนิว่านางไรน์ฮาร์ทเป็นคนหลอกลวง เจ้ากี้เจ้าการ และน่าอัปยศอดสู

 


 

 


 

อย่างไรก็ดีเพื่อป้องการข้อครหาที่ว่าเธอเป็นคนโลภ เธอได้มอบเงินจำนวนมหาศาลแก่ทั้งสามเป็นการตอบแทน เพื่อแผนที่อยู่ในใจลึกๆของเธอจะได้ดำเนินไปต่อโดยไม่มีการสะดุด

 

หลายฝ่ายเชื่อว่า เรื่องราววุ่นวาย จะยังคงตามติดตัวเธอไปอีกนาน เพราะเธอเองก็ทราบดีว่า หนทางของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่ และบังเอิญกลีบกุหลาบก็ไม่ใช่เงิน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...