"หนังศาสนา" ของร้อนของอินโดนีเซีย

หลังจากทัวร์คอนเสิร์ตของนักร้องดังระดับโลก "เลดี้ กาก้า" ที่ประเทศอินโดนีเซียต้องถูกยกเลิกไปด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของตัวเธอเองและแฟนเพลง เนื่องจากปัญหาการต่อต้านของกลุ่มมุสลิมเคร่งศาสนาสุดขั้ว โดยกลุ่มแนวหน้าปกป้องมุสลิม (เอฟพีไอ) ได้ขู่จะ"เผาเวที" หากยังยืนยันจัดการแสดงครั้งนี้ นี่เป็นอีกกรณีของกลุ่มเคร่งศาสนาสุดขั้วที่ออกมาต่อต้านสิ่งที่ขัดกับหลักความเชื่อของกลุ่มและประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังจากเคยกดดันให้รัฐยกเลิกกิจกรรมต่างๆและเคยเรียกร้องการออกกฎหมายสำเร็จมาแล้ว


 

 


 

 

โดยผลการจัดทำแบบสำรวจของศูนย์การศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมจาการ์ต้า ในชาวมุสลิม 1,500 คน พบว่า กว่าร้อยละ 74 ต่อต้านการที่ศิลปินดาราและนักร้องแต่งตัววับๆแวมๆบนเวที ขณะที่ผลสำรวจโดยกลุ่มอินโดนีเซีย เซอร์เวย์ เซอร์เคิล ในชาวมุสลิม 1,200 คน อายุระหว่าง 15-29 ปี พบว่า ร้อยละ 99 ต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ


 

 

นี้แสดงให้เห็นว่าศาสนามีผลต่อประเทศอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก ทำให้การแสดงความคิดเห็นด้านศาสนาเป็นสิ่งควรระวังในประเทศนี้ แต่สำหรับวงการภาพยนต์นั้นกลับต่างออกไป


 

 


 

 

หากวงการหนังบ้านเรากำลังแห่สร้างหนังรักที่มีสาววัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมาย วงการหนังอินโดนีเซียเองก็กำลังเห่อสร้าง "หนังวิพากษ์ศาสนา" ซึ่งในที่นี้คือศาสนาอิสลามที่มีคนนับถือเยอะที่สุดในประเทศนั่นเอง และหนังประเภทนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศบ้านเกิด


 

 

อีริค ซาโซโน นักวิจารณ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวงการหนังอินโดนีเซียเล่าถึงเอกลักษณ์ของหนังวิพากษ์มุสลิมว่า "มันเป็นหนังที่พูดถึงค่านิยมและวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศซึ่งถูกกำหนดด้วยความเป็นมุสลิม และมุ่งแสดงภาพการใช้ชีวิตของชาวมุสลิมมากกว่า"


 

 

โดยจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ดังกล่าวต้องย้อนกลับไปในปี 2007 ยุคที่วงการหนังในอินโดนีเซียเริ่มผลิดอก เมื่อเหล่าคนทำหนังต่างเริ่มใช้หนังเป็นเครื่องมือสื่อสารและแสดงออกถึงเสรีภาพกันมากขึ้น แถมที่น่าแปลกใจคือหนังที่สร้างออกส่วนใหญ่ล้วนมีเนื้อหาว่าด้วยคนมุสลิม จนในที่สุดมันก็กลายเป็นหนังกระแสหลัก โดยมีหนังโรแมนติกสุดฮิตอย่าง Verses of Love (2008) ของหะนัง บรามันตโย (เล่าเรื่องของหนุ่มขี้อายรักศาสนาผู้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่าจะไม่ขอแต่งงานเด็ดขาด แต่หลังจากย้ายไปอียิปต์และได้เจอกับหญิงสาว 4 คน เป้าหมายที่ว่าก็เริ่มสั่นคลอน) เป็นแกนนำ


 


 

 

แต่ในทางกลับกันหนังมุสลิมก็หาได้มีแต่ด้านสวยงาม เพราะการทำหนังที่ว่าด้วย "ศาสนา" และ "วิถีชีวิต" ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีได้ง่าย ๆ หากท่าทีของมันคือการตั้งคำถามหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อความเชื่อเดิม

กลุ่ม The Islamic Defenders Front (FPI) เคยออกมาประท้วงและต่อต้านสถานีโทรทัศน์ SCTV เมื่อจะนำ "?" (2011) หนังมุสลิมอีกเรื่องของบรามันตโยที่เล่าถึง 3 ครอบครัวซึ่งนับถือศาสนาต่างกัน (พุทธ คริสต์ และอิสลาม) แต่ต้องมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันผ่านเหตุการณ์รุนแรงและโศกนาฎกรรมที่มีความเชื่อทางศาสนาเป็นต้นเหตุ ออกฉายทางทีวี


 

 

"หนังเรื่องนี้พยายามกระตุ้นให้คนเกลียดชังศาสนา พร้อม ๆ กับชี้แนะและสร้างความเชื่อทางศาสนาผิด ๆ ให้ชาวมุสลิมว่าสามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักศีลธรรมของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย" โซบรี ลูบิส เลขาธิการทั่วไปของ FPI กล่าว


 

 

แถมเมื่อตอนที่ "?" เข้าโรง หนังก็เคยโดน Indonesian Ulema Council ออกมาห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าไปดู เพราะตัวหนังแฝงนัยว่ามี "พระเจ้า" องค์อื่นนอกเหนือไปจากที่ชาวมุสลิมนับถือกัน (ชาวมุสลิมนับถือพระอัลเลาะห์เพียงองค์เดียว)


 

 

ส่วนบรามันตโยเองก็ออกมาแสดงความเห็นโต้กลับเช่นกันว่า "การกระทำของพวกที่ต่อต้านหนังของผมก็ไม่ต่างอะไรจากการเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก"


 

 

อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังวิพากษ์ศาสนายังเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งซาโซโนวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มันได้รับความนิยมเอาไว้ว่า "อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนชั้นกลางซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ พวกเขาจึงหันหน้าเข้าสู่ศาสนา เพราะมันเป็นเหมือนทางออกอย่างหนึ่ง แล้วมันก็พัฒนาไปสู่การเกิดเป็นค่านิยมที่ว่า ใครเป็นคนเคร่งศาสนาหรือไปเรียนต่อด้านศาสนาในอียิปต์น่ะเท่ ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้วศาสนาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่สถานะทางสังคมที่ดีขึ้น และหนังแนวนี้ก็เติมเต็มความรู้สึกที่ว่าให้แก่คนดู"


 

2 มิ.ย. 55 เวลา 14:04 5,924 3 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...