"ศปจร.น."แจกคู่มือ 10 วิธีเด็ด! ป้องกันรถโดนขโมย แต่ถ้าเอาไม่อยู่ใช้ " วิธี 11 "

 

พล.ต.ต.เมธี กุศลสร้าง รอง ผบช.น. หัวหน้า ศปจร.น. (ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล) กล่าวถึง มาตราการป้องกันปราบปรามของ ศปจร.น. หลังได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ให้มารับผิดชอบดูแล ว่า ใช้ 3 มาตรการหลัก คือ 1. ป้องกัน 2.ปราบปราม 3. ประชาสัมพันธ์

 

การป้องกัน ก็ให้ทุกพื้นที่ในนครบาลตั้งจุดตรวจค้นจุดสกัด เมื่อเกิดเหตุรับแจ้งเหตุรถยนต์รถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรม จุดตรวจจุดสกัดจะต้องตรวจค้นอย่างเข้มวงด ไม่ให้คนร้ายขับรถที่ขโมยมาออกไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย

 

การปราบปราม ให้ใช้มาตรการสืบสวนจับกุมบุคคลที่มีประวัติเป็นแก๊งที่ลักรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งอู่รถที่มีพฤติกรรมรับซื้อรถยนต์ไปขำแหละอะไหล่แยกชิ้นส่วนขาย

 

การประชาสัมพันธ์ แนะนำข้อควรปฏิบัติในการป้องกันทรัพย์สินรถยนต์รถจักรยานยนต์แก่ประชาชน

 

สำหรับพฤติการณ์การกระทำผิดมีด้วยกันหลายวิธีแต่วิธีที่คนร้ายใช้บ่อยคือ ใช้กุญแจพิเศษ ที่ในวงการเรียกกันว่า เหล็กปีกเครื่องบิน ซึ่งทำจากเหล็กที่แข็งแรงเป็นพิเศษ มีรูปลักษณะคล้ายกุญแจ เมื่อแทงเข้าไปในรูกุญแจประตูและบิดแรงๆ ความแข็งของกุญแจพิเศษดังกล่าวจะทำลายระบบตัวล็อคประตู และสามารถที่จะเปิดประตูรถเข้าไปต่อสายตรงสตาร์ทเครื่องขับรถไปได้

 

อีกวิธีที่คนร้ายนิยมคือ การดึงยวงกุญแจประตูหรือฝาถังน้ำมัน จากนั้นนำเอายวงกุญแจไปทำกุญแจขึ้นใหม่เพื่อนำมาสตาร์ทเครื่องยนต์ขับรถไป วิธีอื่นๆ ที่คนร้ายใช้มีอีก เช่น การลักลอบปั๊มกุญแจ

 

ส่วนรถจักรยานยนต์ วิธีที่คนร้ายมักใช้คือการหักคอแล้วต่อสายตรงสตาร์ทเครื่องแล้วขับขี่เอารถไป

 

พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. โชว์ภาพหมายจับแก๊งลักรถ

 

ทาง ศปจร.น. ได้จัดพิมพ์โปสเตอร์หมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องคดีลักทรัพย์รถยนต์ และแผ่นพับคู่มือแนะนำเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แจกจ่ายไปทุก บก.และ สน.เพื่อแจกจ่ายประชาชนให้ระวังทรัพย์สินก่อนถูกคนร้ายโจรกรรม ให้ปฏิบัติเป็นประจำ คือ

 

1.ล็อคมันไว้ คือ ให้ล็อคกุญแจไม่ว่าจะจอดรถอยู่ในหรือนอกบ้าน นานหรือครู่เดียวก็ตาม จะลดโอกาสหายได้ 3.55 เท่า และควรล็อคอย่างน้อย 2 ระบบ ต่างรูปแบบและต่างยี่ห้อจะช่วยป้องกันรถหายได้มาก ถ้าซื้อรถใหม่ ควรเปลี่ยนระบบกันขโมยใหม่เสมอ ระบบกันขโมยที่ติดตั้งมาก่อนซื้อรถอาจถูกสำเนากุญแจไว้แล้ว

 

2.ปกปิดมันไว้ คือ ก่อนให้ใครเข้ามาใกล้บ้าน หรือในบ้านต้องปกปิดทรัพย์สินมีค่าเสมอ ระวังพวกที่ชอบสอดรู้สอดเห็น เช่น พนักงานติดตั้งเครื่องไฟฟ้า หรือคนงานสำนักงานที่ชอบถามเรื่องซอกแซกในบ้าน มักจะเป็นสายให้โจร หรือเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ อย่างทำตัวอวดร่ำรวย เช่น สวมใส่เครื่องประดับมีค่า หรือจอดรถไว้ให้คนที่ผ่านหน้าบ้านเห็นได้ง่าย ควรมีผ้าคลุมแบบราคาไม่แพงมาปิดคลุมรถเอาไว้ถ้าทำได้ โดยเลือกแบบราคาไม่แพง เพราะยิ่งแพงจะยิ่งเสี่ยง ไม่ควรวางสิ่งของมีค่าไว้ในรถยนต์ หากจำเป็นให้ปิดบังซ่อนให้มิดชิด เก็บไว้กระโปรงท้ายดีกว่าวางล้อตาเบาะหลัง

 

3.ติดตั้งเครื่องกันขโมยแบบส่งเสียงดัง ควรเป็นเครื่องป้องกันขโมยแบบเสียงดังแปลกๆ อย่างเหมือนเสียงแตรค้าง เป็นไปได้ควรติดตั้งระบบเตือนภัยขโมยผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ GPS เพื่อระบุพิกัดให้ตำรวจติดตามได้ทันทีเมื่อถูกโจรกรรม ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด หรือระบบความปลอดภัยทั้งในตัวบ้าน โรงรถ และนอกบ้าน

 

4.สำหรับรถจักรยานยนต์ ให้ทำห่วงยึดติดกับพื้น แล้วล่ามโซ่หนักๆ ยึดติดรถไว้ พร้อมล็อคกุญแจหลายๆ ระบบด้วยจะยิ่งป้อนกันได้ดีมากขึ้น

 

5.ทำให้รถใช้การไม่ได้ชั่วคราว เช่น ถอดฟิวส์รถออก ติดตั้งระบบตัดไฟ ซึ่งโจรและขโมยส่วนใหญ่มักจะชอบขโมยอะไรที่ง่ายๆ มากกว่ายากๆ และต้องใช้เวลาในการทำงานเร็วๆ มากกว่าใช้เวลาทำงานนานๆ

 

6.เลือกที่จอดรถให้รอบคอบ อย่าจอดในจุดลับตาคน โจรขโมยทำงานได้ง่าย เลือกจอดที่มีคนอยู่ประจำ จอดในจุดที่มีแสงสว่างพอ ถ้ามีรถคันอื่นขับตาม ควรพิจารณาเปลี่ยนแผนการเดินทาง และรีบไปยังที่ที่ปลอดภัย ถ้าพบว่าฝาเติมน้ำมันชนิดที่ใช้กุญแจไขหายไปให้คิดไว้ก่อนเสมอว่ากุญแจถูกปั๊มไปแล้ว

 

7.ระมัดระวังพวกที่ชอบลองรถ เมื่อซื้อหรือขายรถมาใช้ ไม่ควรให้ใครมาขอลองขับรถเรา ถ้ามัดหมายขอดูรถเมื่อซื้อขาย อย่าไปนัดในที่เปลี่ยว ควรล้างรถด้วยตัวเอง เพราะพนักงานล้างรถนำไปลองขับ เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรอย่างยิ่ง โอกาสถูกก๊อปปี้กุญแจและทำสำเนาสัญญาณกันขโมย ก่อนจะย้อนกลับมาขโมยรถในเวลาต่อมาได้ ถ้าต้องใช้บริการล้างรถ ให้ไปเฉพาะกุญแจดอกเดียว อย่าให้กุญแจล็อคทั้งระบบอื่นไปด้วย เมื่อนำรถไปซ่อม ควรเฝ้าดูและรอรับรถกลับ หากต้องฝากไว้ให้เลือกอู่ที่รู้จักและไว้ใจได้

 

8.ทำร่อยรอยไว้ ขโมยอาจนำรถไปขายทั้งคัน หรือถอดขายเป็นชิ้นๆ ควรจดหมายเลขเครื่องถ่ายรูปเลยเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ เอาไว้ ติดชื่อหรือเครื่องหมายซ่อนไว้ในที่พิเศษในการช่วยให้ตำรวจติดตามรถได้ดีขึ้น

 

9.ลดความเสี่ยง ด้วยการเลือกใช้รถยี่ห้อและรุ่นที่ดีอันดับสอง ไม่ใช้รุ่นยอดนิยม เพื่อนบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตา ผลัดกับเฝ้าบ้าน หรือรวมกลุ่มกันจ้าง รปภ.ไว้ช่วยอีกแรงจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น

 

10.การซื้อรถมาเมื่อดาวน์รถมาแล้ว ไม่นำไปให้ผู้อื่นเช่า หรือขายดาวน์ โดยทำสัญญาโอนลอย ขายดาวน์ที่ถูกต้อง ต้องพากันไปเปลี่ยนสัญญาซื้อขายที่ไฟแนนท์เท่านั้น


11.เมื่อรถหายทำอย่างไร ขอให้แจ้งผ่านทางสายด่วน 1599 หรือ เว็บไซด์ WWW:lostcar.go.th ซึ่งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลรถหาย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ที่ โทร.02-354-5162 ศูนย์ ปจร.น. 71/1 ถนนศรีอยุธยา ทุ่งพญาไท ราชเทวี กทม. ซึ่งจะช่วยติดตามรถที่ถูกโจรกรรม และสามารถตรวจสอบรถว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่

 

ที่มา มติชนออนไลน์



 

Share10



   
   
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...