คำบอกเล่าจากอดีตนักโทษประหาร กับชีวิตที่ถูกจองจำ


          เรา คงได้ยินข่าวในช่วงที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเดินหน้าเอาจริงเอาจริงกับการปราบปรามยาเสพติด ทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้เป็นจำนวนมาก และจุดจบของผู้ค้ายาเสพติดก็คือการที่ต้องมีชีวิตที่ถูกพันธนาการอยู่ภายใน เรือนจำ ขณะที่อีกหลายคนถูกพิพากษาให้รับโทษประหาร

          รายการตีสิบ เมื่อคืนวันอังคารที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ได้บุกไปถึงเรือนจำกลางบางขวาง เพื่อนำเสนอเรื่องราวของสังคมภายในคุกที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน โดยแขกรับเชิญของรายการตีสิบในเทปนี้ เป็นอดีตนักโทษประหาร 3 คน ที่ต้องคดียาเสพติดทั้งสิ้น และยินยอมให้เปิดเผยใบหน้า พร้อมเล่าถึงบรรยากาศและความรู้สึกของคนที่กำลังจะตายภายในเรือนจำให้คนภาย นอกได้รับรู้



  คนแรก คือ "สวงค์" กระทำความผิดในข้อหาร่วมค้ายาเสพติด (ฝ่ายเก็บเงิน) และถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษมา 4 ครั้ง จึงเหลือโทษจำคุก 29 ปี 7 เดือน ปัจจุบันเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม สวงค์ บอกว่า ที่ยินยอมเปิดเผยใบหน้า เพราะต้องการให้คนภายนอกที่คิดจะกระทำความผิดได้รับรู้ถึงสังคมภายในคุก จะได้ไม่กล้ากระทำความผิด

          คนที่ 2 คือ "เดชา" กระทำความผิดข้อหาขนยาเสพติดข้ามชาติ ได้รับโทษเด็ดขาดประหารชีวิต แต่เดชาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงเหลือโทษจำคุก 43 ปี ปัจจุบันเป็นนักโทษชั้นดีมาก เดชา บอกว่า ที่ยอมเปิดเผยใบหน้า เพื่อต้องให้การครอบครัวได้เห็นหน้า เนื่องจากไม่ได้เจอหน้ากันมานานเป็นสิบปีแล้ว

          และคนสุดท้าย เป็นชาวเขาเผ่าลีซอ ชื่อ "ลาวจ้าง" เขาเป็นหัวหน้าขบวนการค้ายาเสพติด เครือข่ายขุนส่า ซึ่งได้รับโทษประหารชีวิตเช่นกัน ปัจจุบันเป็นนักโทษชั้นกลาง แต่เพิ่งได้รับการปลดโซ่ตรวนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
 


          ลาวจ้าง เล่าว่า ที่ยอมเปิดใจครั้งนี้ เพื่อต้องการให้คนตระหนักถึงโทษของยาเสพติด และชีวิตของเขาก็จะเป็นอุทาหรณ์ให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ได้รู้ว่า หากยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จุดจบก็คือการได้รับโทษภายในคุก อย่างเช่นเขาที่ใช้ชีวิตอยู่ในคุกมาแล้ว 12 ปี โดยมีโซ่ตรวนหนักราว ๆ 3 กิโลกรัม และเชื่อมต่อกัน ผูกติดอยู่ที่ขาทั้งสองข้างตลอด 24 ชั่วโมง อันเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึง นักโทษคนนี้ต้องโทษประหารชีวิต และกำลังนับถอยหลังถึงวันพิพากษา

          อดีต นักโทษประหารทั้งสามคน เล่าถึงความรู้สึกที่รู้ว่าตัวเองต้องรับโทษประหาร ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษภายหลังว่า มันเป็นความรู้สึกที่มืดมน มองไม่เห็นอะไรในวันนี้และข้างหน้า เหมือนกับการใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปวัน ๆ เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะต้องจบชีวิตลงในวันไหน โดยเฉพาะหากวันไหนที่นักโทษต้องขึ้นตึกเร็วขึ้น บรรยากาศในหมู่นักโทษวันนั้นจะเงียบ วังเวง หลอนไปตาม ๆ กัน เพราะรู้แล้วว่าในช่วงเย็น ๆ ราว 4 โมง จะต้องมีใครสักคน หรืออาจจะเป็นตัวเองก็เป็นได้ ที่จะต้องถูกควบคุมตัวออกไปยังห้องประหารชีวิต และไม่มีวันจะได้กลับมา

 


          เดชา เล่าว่า ความรู้สึกแบบนั้นมันเป็นความรู้สึกที่ต้องประสบเองถึงจะสัมผัสความทรมานได้ เพราะขนาดผู้ต้องขังบางคนที่ยังไม่ถึงกำหนดประหารชีวิต แต่เพื่อนที่เพิ่งนั่งทานข้าวอยู่ด้วยกันดี ๆ กลับถูกพาตัวออกไปประหาร ผู้ต้องขังคนนั้นก็ถึงกับช็อกจนเป็นอัมพาตมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งนี่คือความรู้สึกที่น่ากลัวซึ่งเกิดขึ้นกับสภาพจิตใจของนักโทษประหาร เพราะทุกคนจะต้องกดดันทุกครั้ง เมื่อได้ยินเสียง "แก๊ก" ที่ผู้คุมจะเข้ามาพาคนออกไปห้องประหารชีวิต

          ส่วน สวงค์ บอกว่า สำหรับคนที่ถูกประหารก็แค่เดินจากไปเท่านั้น แต่คนที่รอการประหารมีความทุกข์ทรมานยิ่งกว่า เพราะทุกคนจะต้องกดดันทุกครั้ง และหากใครยังไม่ถึงคิว ก็ต้องถูกบีบหัวใจแบบนี้ไปตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ จนทำให้นักโทษประหารหลายคนต้องเข้าตรวจสุขภาพจิตอยู่เรื่อย ๆ

          สำหรับนักโทษประหารชีวิตที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในแดนสนธยาที่ไร้อิสรภาพแห่งนี้ แรก ๆ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ทุกอย่าง แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการใส่กางเกง ถอดกางเกง ทั้ง ๆ ที่มีโซ่ล่ามขาทั้งสองข้างอยู่ ก็ต้องฝึกฝนและหัดเอาเอง รวมทั้งการเดินการวิ่งที่ไม่คล่องตัวเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่หากวันใดที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้พ้นจากโทษประหารชีวิต คน ๆ นั้น จะถูกปลดโซ่ตรวนภายใน 90 วัน และก็เปรียบเสมือนเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เพราะอย่างน้อยก็รู้แล้วว่า เราจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไป

          แม้ว่าบรรยากาศในเรือนจำจะไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก เพราะต้องอยู่กับความเครียด และบีบคั้นหลาย ๆ อย่าง แต่นักโทษหลายคนที่ได้เข้ามาอยู่ในดินแดนแห่งนี้เป็นเวลานาน ก็ได้ค้นพบสัจธรรมในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพราะที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ที่มาเยี่ยมนักโทษประหารก็คือ พ่อแม่วัยแก่เฒ่า และญาติพี่น้อง ขณะที่หลายคนยังไม่เคยพบหน้าภรรยาอีกเลยนับแต่วันที่ก้าวเข้ามาในคุก



          อย่างเช่น สวงค์ ที่บอกว่า ภรรยาทิ้งเขาไปหลังจากเขาถูกตัดสินโทษประหาร และมีแต่พ่อแม่ญาติพี่น้องเท่านั้นที่มาเยี่ยม ส่วนพ่อที่ตอนนี้อายุ 74 ปีแล้ว ก็บอกเขาว่า ตอนนี้พยายามจะวิ่งทุกวัน และเลิกดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่อย่างสิ้นเชิง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง จะได้มีชีวิตอยู่รอทันเห็นวันที่เขาออกจากเรือนจำ และนั่นก็ยิ่งทำให้เขารู้ซึ้งถึงความรักของครอบครัวมากขึ้น

          ขณะที่ เดชา ก็บอกว่า เขาได้ค้นพบสัจธรรมเรื่องความรักที่มีต่อครอบครัวเช่นกัน โดยตอนที่เขาติดคุกนั้น เขามีลูกสาวอายุ 4 ขวบ แต่เขาไม่เคยให้ลูกสาววัย 4 ขวบ เข้ามาเยี่ยมเขาเลยสักครั้งเดียว และให้ญาติ ๆ ช่วยกันปิดบังเรื่องที่เขาติดคุกไว้ไม่ให้ลูกรู้ เพราะไม่อยากให้ลูกมีภาพความทรงจำที่ต้องเจอพ่อผ่านลูกกรง จนถึงปัจจุบัน ลูกสาวของเขาอายุ 16 ปีแล้ว ซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่พอที่จะสามารถรับเรื่องราวต่าง ๆ ได้ เขาจึงตัดสินใจโทรศัพท์บอกเรื่องนี้กับลูก ซึ่งวินาทีที่ลูกสาวรับรู้ก็มีเสียงสะอื้นมาตามสาย และบอกว่าไม่เสียใจที่มีเขาเป็นพ่อ

          อย่างไรก็ตาม หลังจากการคุยโทรศัพท์ครั้งนั้น เดชา ก็ยังไม่ได้คุยกับลูกสาวอีกเลย ซึ่งเขาก็กำลังใจจดใจจ่อรอที่จะได้พบลูกในวันพบญาติในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า และเตรียมปรับความเข้าใจกับลูกสาว พร้อมกับฝากคำเตือนไปยังลูกสาวว่า อยากให้ลูกใช้สติอยู่ในสังคม เพราะสังคมภายนอกมีอันตรายอยู่มาก และอย่าทำพลาดเหมือนที่พ่อเคยทำมาแล้ว นอกจากนั้น เดชาก็บอกว่า ยังไม่เคยเจอหน้าแม่เลยสักครั้งเช่นกัน ตั้งแต่ที่เข้ามาอยู่ในคุก มีแต่เขียนจดหมายส่งไปให้ จึงได้เอ่ยปากขอโทษที่ไม่ได้ดูแลแม่ให้ดีผ่านรายการตีสิบ

          ขณะที่ลาวจ้าง บอกว่า ชีวิตที่ผ่านมา เขาเคยใช้ชีวิตอย่างราชา จับเงินเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน แต่เมื่อถูกจับ ทุกสิ่งทุกอย่างก็หายไปหมด กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ส่วนภรรยาก็ขอแยกทาง ซึ่งเขาก็เข้าใจดี เพราะเขาเป็นคนที่ไม่มีอนาคต และช่วงแรก ๆ ที่เจอเหตุการณ์เช่นนี้ ก็เหมือนกับฟ้าผ่าเปรี้ยงกลางใจ ทำให้เขามีอาการทางจิต ต้องกินยาแก้เครียด ยาลดความซึมเศร้า ยานอนหลับ เพื่อไม่ให้มีอาการหวาดระแวง เพราะแม้แต่ฝันก็ยังฝันร้ายว่า เพื่อนถูกพาไปประหารบ้าง เพื่อนผูกคอตายในห้องน้ำบ้าง และก็มีหลายคนที่ทนสภาพแบบนี้ไม่ไหว แอบสะสมยาไว้ฆ่าตัวตายบ้างก็มี



          ในตอนท้าย ทั้งสามคนก็ขอฝากแง่คิดไปยังคนภายนอกที่กำลังยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือคิดจะยุ่งเกี่ยว ว่า หากเป็นไปได้อย่าไปยุ่งกับยาเสพติดเลย เพราะที่ผ่านมาพวกเขาต้องประสบกับความสูญเสียหลายอย่างที่ไม่สามารถเรียกคืน กลับมาได้เลย ทั้งสูญเสียเวลา สูญเสียครอบครัว สูญเสียอิสรภาพ หรือลองนึกภาพดูว่า หากขังตัวเองอยู่ในห้องสัก 2 วัน จะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีอิสรภาพได้หรือไม่

          "หาก คนภายนอกไม่ได้สัมผัสความรู้สึกตรงนี้ ก็คงไม่เข้าใจและไม่รู้จริง ๆ ว่ามันทรมานขนาดไหน ไม่รู้จะอธิบายยังไง มันเหมือนกับคนถูกน้ำร้อนลวก ถ้าไม่โดนเองก็ไม่รู้ว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน และหากวันใดที่ได้ออกไปจากตรงนี้แล้ว ก็คงจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกแน่นอน เพราะเข็ดแล้ว"

 


          และนี่ก็คือการเปิด ใจของอดีตนักโทษประหาร ซึ่งพัวพันกับคดีค้ายาเสพติดแทบทั้งสิ้น หวังว่า เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นอุทาหรณ์ให้คนที่กำลังเดินทางผิดได้กลับตัวกลับใจ ก่อนที่จะต้องกลายเป็นคนไร้อิสรภาพที่กว่าจะสำนึกได้ว่าตัวเองทำผิดพลั้งไป มันก็สายไปเสียแล้ว

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...