โกงเกมโชว์

มันต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล เขาใช้เวลาเล่นเกมโชว์ไม่ถึง 30 นาที กวาดเงินรางวัลไปมากกว่า 100,000 ดอลลาร์ นับเป็นเงินรางวัลจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์จากการเล่นเกมโชว์เพียงครั้งเดียว

                                      



                 วันที่ 19 กันยายน 1983 สถานีโทรทัศน์ CBS ออกอากาศรายการเกมโชว์รายการใหม่ชื่อว่า Press Your Luck หรือให้เสียงภาษาไทยได้ว่า “กดลุ้นโชค” รูปแบบของรายการคือคัดเลือกผู้เล่นที่สมัครจากทางบ้าน 3 คน นำมาแข่งขันตอบปัญหาจิปาถะทั่วไป ผู้ตอบถูกจะได้สิทธิกดปุ่มหยุดกระดานลุ้นโชค ได้รับรางวัลตามที่ปรากฏบนกระดาน

                                       



                 วันที่ 19 พฤษภาคม 1984 ไมเคิล ลาร์สัน (Michael Larson) หนุ่มวัย 35 ปีจากเมืองเล็กๆชื่อเลบานอน รัฐโอไฮโอ สร้างความฮือฮาให้กับวงการโทรทัศน์เมื่อเขาเลือกที่จะเล่นกระดานลุ้นโชค ติดต่อกัน 40 ครั้ง โดยไม่แสดงความหวาดหวั่นต่อการที่จะไปตกในช่อง “ตัวซวย” ซึ่งหมายถึงเขาจะถูกยึดเงินรางวัลคืนทั้งหมด ทั้งๆที่เขามีสิทธิเลือกหยุดเล่นได้ทุกเมื่อแล้วรับเงินรางวัลที่ทำได้กลับ ไป

                     



                 ไมเคิลทำเงินรางวัลสะสมได้สูงกว่า 100,000 ดอลลาร์จากการเล่นเกมเพียงครั้งเดียว เขาบังคับให้กระดานหยุดกะพริบแต่เพียงในช่องเงินรางวัลและช่องเพิ่มจำนวน ครั้งการหมุน โดยไม่พลาดไปถูกตัวซวยเลย เหมือนกับรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องกดปุ่มหยุดตอนไหน

ชีวิตลำเค็ญ

                 ไมเคิล ลาร์สัน เป็นคนว่างงานจนๆอาศัยอยู่ในเมืองเลบานอน รัฐโอไฮโอ เขาหารายได้จากการใช้ชื่อญาติเปิดบริษัทหลอกๆขึ้นมา ใส่ชื่อตัวเองเป็นพนักงานบริษัท จากนั้นก็ไล่ตัวเองออกแล้วไปลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เมื่อถึงฤดูร้อนเขาก็ทำงานขับรถขายไอศกรีม

                 ไมเคิลแต่งตัวมอซอ ขึ้นโดยสารรถประจำทางมายังสถานีโทรทัศน์ CBS ในเมืองฮอลลีวู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาแวะซื้อเสื้อเชิ้ตถูกๆข้างถนนราคา 65 เซนต์ก่อนจะเดินเข้าสถานีกรอกใบสมัครขอร่วมเล่นเกมโชว์ Press Your Luck โดยหวังว่าจะได้เงินรางวัลเล็กน้อยเพื่อซื้อของขวัญให้กับลูกสาววัย 6 ขวบเนื่องในวันคล้ายวันเกิดที่กำลังจะมาถึง

                  บิล คาร์รูเธอร์ (Bill Carruthers) ผู้อำนวยการเกมโชว์ ประทับใจในเรื่องเล่าของไมเคิล คัดเลือกให้เขาเป็นผู้ร่วมเล่นเกมโชว์ นัดแนะให้มาบันทึกเทปในวันเสาร์ โดยไมเคิลจะต้องแข่งขันกับแชมป์เก่าและผู้ร่วมแข่งขันอีกคน

เกือบตกรอบ

                  เอ็ด ลอง (Ed Long) แชมป์เก่านั่งด้านขวา เจนี ไลทรัส (Janie Litras) นั่งทางด้านซ้าย ส่วนไมเคิลอยู่ตรงกลาง เกมโชว์ประกอบไปด้วย 4 ช่วงคือช่วงแรก พิธีกรถามคำถาม 4 ข้อ แต่ละคำถามมีตัวเลือก 3 ข้อ ผู้แข่งขันต้องชิงกันกดปุ่มตอบคำถาม ผู้ที่ตอบถูกจะได้สิทธิกดปุ่มลุ้นโชค 1 ครั้งต่อคำตอบที่ถูก 1 ข้อ หากผู้แข่งขันคนใดชิงตอบคำถามโดยไม่รอฟังตัวเลือก ถ้าตอบถูกจะได้รับสิทธิกดปุ่มลุ้นโชค 3 ครั้งต่อ 1 คำตอบที่ถูกต้อง

                                    



                 ไมเคิลทำคะแนนได้น้อยที่สุดในรอบแรก ได้สิทธิกดปุ่มลุ้นโชคเพียง 3 ครั้ง เขาแสดงความตื่นเต้นดีใจ พิธีกรส่งสัญญาณให้กระดานลุ้นโชคกะพริบ แสดงภาพของรางวัลที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา แสงไฟสุ่มกะพริบสลับกันโดยไม่มีรูปแบบที่แน่นอนบนช่อง 18 ช่องที่วางเรียงวนกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม

                 “หยุด” ไมเคิลตะโกนพร้อมกับใช้ 2 มือตบลงบนปุ่มสีแดงข้างหน้าอย่างแรง ไฟกะพริบหยุดลงที่ช่องหมายเลข 17 แสดงภาพตัวซวยให้เห็น ไมเคิลส่ายหัว ยิ้มเจื่อนๆ แต่มันเป็นเพียงการกดปุ่มครั้งแรกเขายังไม่มีอะไรให้เสีย

                                          



                 “พร้อม เริ่มได้” ไมเคิลบอกพิธีกร แสงไฟบนกระดานเริ่มกะพริบอีกครั้ง ไมเคิลทำสมาธิสงบสติอารมณ์ เพ่งมองกระดาน เขากดปุ่มอย่างตั้งใจและแสงไฟก็หยุดกะพริบที่ช่องหมายเลข 4 ทั้งสองครั้ง เขาได้เงินรางวัลในรอบแรก 2,500 ดอลลาร์

โค่นแชมป์

                  ผู้ได้เงินรางวัลสูงสุดจะเป็นแชมป์ได้เงินรางวัลตามที่ทำเอาไว้และมีสิทธิ กลับเข้ามาเล่นเกมอีกเรื่อยๆจนกว่าจะมีคนโค่นแชมป์ลงได้ ช่วงที่ 3 ของรายการจะเป็นการถามคำถาม 4 ข้อเหมือนช่วงแรก ผู้ที่ตอบคำถามถูกต้องจะได้รับสิทธิกดปุ่มลุ้นโชคในช่วงที่ 4 สิ่งที่แตกต่างออกไปคือเงินรางวัลจาก 100-1,500 ดอลลาร์ในช่วงแรก เพิ่มขึ้นเป็น 500-5,000 ดอลลาร์ และมีรางวัลสิ่งของเช่นคูปองที่พักตากอากาศและรถยนต์

                 ในช่วงที่ 3 ไมเคิลสามารถทำคะแนนได้ถึง 7 คะแนน ซึ่งสูงกว่าเอ็ดและเจนี แต่เขามีเงินรางวัลสะสมน้อยที่สุดจึงต้องได้กดปุ่มลุ้นโชคก่อนคนอื่น เขาเงียบสงบ ตั้งอกตั้งใจกดปุ่มลุ้นโชค ซึ่งมันหยุดลงในช่องเงินรางวัลและเพิ่มจำนวนครั้งการหมุน จนกระทั่งเขาได้เงินรางวัลสะสมกว่า 30,000 ดอลลาร์จากการกดปุ่มลุ้นโชค 13 ครั้ง ซึ่งเป็นเงินรางวัลที่สูงที่สุดเท่าที่มีรายการ Press Your Luck

                              



                 ไมเคิลยังไม่ยอมหยุดเล่น เขามีสิทธิที่จะโอนจำนวนการกดปุ่มลุ้นโชคที่เหลือให้กับผู้แข่งขันคนอื่นๆ เพราะหากยังฝืนเล่นต่อไปเขาอาจไม่โชคดีเหมือนที่ผ่านมา การกดปุ่มหยุดที่ตัวซวยทำให้ถูกยึดเงินรางวัลทั้งหมด ผู้แข่งขันที่ทำคะแนนได้มากมักจะเล่นจนได้รางวัลพอประมาณ จากนั้นก็โอนสิทธิไปให้กับคู่แข่งขันเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิด ขึ้นได้ทุกเมื่อ

                 กระดานลุ้นโชคมีตัวซวยอยู่ 3 ช่อง ซึ่งเท่ากับว่าผู้เล่นเกมมีโอกาสเจอตัวซวย 1 ใน 6 ยิ่งเล่นมากก็ยิ่งมีโอกาสเจอตัวซวยสูง แต่ไมเคิลกลับไม่แสดงความหวาดหวั่น เขาขอเล่นต่อจนถึงครั้งที่ 21 ทำรางวัลสะสมมูลค่ารวม 47,601 ดอลลาร์
สุ่มอย่างมีรูปแบบ

                เจ้าหน้าที่ควบคุมการบันทึกเทปเริ่มสังเกตเห็นสิ่งผิดปรกติ ไมเคิลกดปุ่มหยุดวงล้อลุ้นโชคในช่องที่ 4 และช่องที่ 8 เท่านั้น เขาจึงโทรศัพท์เชิญผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ให้ลงมาดู หากแต่ไมเคิลไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎ ผู้บริหารจึงไม่สามารถหาเหตุผลมายุติการบันทึกเทปได้

                 ไมเคิลกดปุ่มลุ้นโชคครั้งที่ 26 และมันก็ตกลงในช่องเงินรางวัลอีก พิธีกรปีเตอร์ โทมาร์เกน (Peter Tomarken) ถึงกับใช้มือตบหน้าผากไม่เชื่อสายตาตัวเอง ไมเคิลยังคงเล่นต่อไปจนถึงครั้งที่ 32 เขาได้เงินรางวัลมากกว่า 75,000 ดอลลาร์ ไมเคิลเริ่มแสดงความอ่อนล้า เขาซบหน้าลงกับโพเดียม ภายในห้องส่งเงียบสงัดเป็นป่าช้า ผู้ชมลุ้นว่าไมเคิลจะหยุดหรือจะเล่นต่อ

                              



                  ไมเคิลเงยหน้าขึ้น ยืนยันจะเล่นต่อ หลังจากกดปุ่มลุ้นโชคครั้งที่ 40 เขาทำสะสมมูลค่ารวมได้กว่า 100,000 ดอลลาร์ ในที่สุดไมเคิลก็ขอหยุดและโอนสิทธิให้กับแชมป์เก่า

มากับดวง

                  ถึงตาของเอ็ดบ้าง เขากดปุ่มครั้งแรกก็โดนตัวซวย ทำให้เงินรางวัลที่ทำมาในวันนี้ถูกยึดคืนไปหมด ต้องเริ่มเล่นสะสมเงินรางวัลใหม่อีกครั้ง เอ็ดทำเงินได้ 10,000 ดอลลาร์จากการเล่นใหม่เพียง 2 ครั้ง แต่โชคไม่เข้าข้างเมื่อเขาเล่นครั้งสุดท้าย กดปุ่มหยุดที่ตัวซวยต้องกลับบ้านมือเปล่า ส่วนเจนีกดปุ่มลุ้นโชคได้เงินรางวัลเกือบ 10,000 ดอลลาร์จนเหลือสิทธิอีก 3 ครั้ง เธอตัดสินใจโอนสิทธิให้กับไมเคิล ซึ่งเขาไม่สามารถปฏิเสธการเล่นได้

                  ไมเคิลถึงกับออกปากว่า “ผมไม่อยากได้” เขาตั้งสมาธิกดปุ่มหยุดในช่องหมายเลข 4 ได้เงินรางวัล 4,000 ดอลลาร์ เจนีร้องเสียงหลงแบบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เมื่อกระดานกะพริบไฟอีกครั้ง คราวนี้ไมเคิลใช้เวลานานกว่าปรกติ เขากดปุ่ม แสงไฟหยุดลงที่ช่องหมายเลข 8 เงินรางวัล 750 ดอลลาร์

                                    



                  เหลือการเสี่ยงอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น กระดานลุ้นโชคกะพริบ ไมเคิลตบปุ่มหยุดอย่างมั่นใจ คราวนี้เขาจับจังหวะผิดไปแค่เศษเสี้ยววินาที ไฟหยุดลงที่ช่องหมายเลข 17 ซึ่งเป็นช่องเดียวกับที่ไมเคิลเจอตัวซวยในการเล่นครั้งแรก แต่ของรางวัลบนกระดานไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งเดิม มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไมเคิลได้รางวัลที่พักตากอากาศในบาฮาม่าเพิ่ม รวมเงินรางวัลที่ทำได้ทั้งสิ้น 110,237 ดอลลาร์

                 ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ CBS ถูกเรียกประชุมด่วน พวกเขาไม่สามารถจับผิดไมเคิลได้ว่าเขาทำอย่างไรจึงเล่นเกมกดปุ่มลุ้นโชค มากกว่า 40 ครั้งได้โดยไม่โดนตัวซวย ในที่สุดก็พบว่าผู้ออกแบบกระดานลุ้นโชคใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการ กะพริบไฟ 6 รูปแบบโดยจะสลับการกะพริบไฟแต่ละแบบไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากมีคนจดจำรูปแบบการกะพริบไฟเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถควบคุมตำแหน่งที่ต้องการให้ไฟหยุดกะพริบได้

ความลับกระดานลุ้นโชค

                 ไมเคิลไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง จึงมีเวลาว่างมากมาย เขาใช้เวลาว่างที่มีนั่งดูรายการโทรทัศน์มองหาช่องทางหาเงิน ในอเมริกามีสถานีโทรทัศน์มากมาย ไมเคิลเกิดความคิดว่าหากเขามีโทรทัศน์ 2 เครื่องจะทำให้เขาสามารถดูรายการได้ 2 รายการพร้อมกัน ซึ่งหมายถึงเขามีโอกาสพบรายการที่เป็นช่องทางหาเงินได้มากขึ้น

                  ไมเคิลซื้อโทรทัศน์จาก 2 เครื่องเป็น 3 เครื่อง เป็น 4 เครื่อง และยังซื้อต่อไปเรื่อยๆจนเขามีโทรทัศน์ 12 เครื่องวางซ้อนกันเหมือนกับร้านขายโทรทัศน์ เปิดพร้อมกันเครื่องละช่อง ในที่สุดเดือนกันยายน 1983 ไมเคิลไปสะดุดตารายการเกมโชว์ Press Your Luck เนื่องจากมีเงินรางวัลล่อใจสูงที่สุดในยุคสมัยนั้น

                  หลังจากนั้นไมเคิลซื้อเครื่องบันทึกเทปมาบันทึกรายการ Press Your Luck เผ้าดูอย่างเอาเป็นเอาตายจนกระทั่งเขาค้นพบว่าไฟกะพริบบนกระดานลุ้นโชคไม่ ได้กะพริบแบบสุ่มไปเรื่อยๆ หากแต่มันกะพริบอย่างมีรูปแบบที่แน่นอน 6 รูปแบบ หากจดจำรูปแบบทั้ง 6 รูปแบบนี้ได้ก็จะสามารถบังคับให้ไฟหยุดกะพริบได้ตามต้องการ

                              



                  ยิ่งไปกว่านั้นไมเคิลยังค้นพบอีกว่า ตัวซวยไม่เคยปรากฏบนช่องหมายเลข 4 และช่องหมายเลข 8 ดังนั้นถ้าบังคับให้ไฟหยุดกะพริบที่ช่องหมายเลข 4 และช่องหมายเลข 8 ได้ เขาก็จะสามารถเล่นเกมลุ้นโชคได้นานตราบเท่าที่ต้องการ

                 ไมเคิลฝึกฝนโดยการเล่นเทปที่อัดเอาไว้ ใช้ปุ่มหยุดเล่นเทปชั่วคราวแทนปุ่มหยุดการกะพริบจนกระทั่งชำนาญ จากนั้นเขาก็เดินทางไปสมัครเล่นเกมที่สถานีโทรทัศน์ CBS

                 CBS ไม่สามารถหาข้อกฎหมายมาเล่นงานไมเคิล จำใจต้องจ่ายเงินรางวัลให้ทั้งหมด แต่จะว่าไปแล้วไมเคิลก็ไม่ได้ใช้กลโกงอะไร เขาเพียงแค่ล่วงรู้ความลับรูปแบบการกะพริบไฟที่ Press Your Luck ใช้ในรายการเท่านั้น ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ CBS อับอายกับความผิดพลาดของตัวเอง สั่งห้ามนำเทปตอนนี้มาออกอากาศซ้ำโดยเด็ดขาด
ส่วนท้ายเป็นคลิปของลุงแกครับ....โอ้...ช่างคิดได้....แจ่มครับ...วิชาที่ คุณไมเคิล ลาร์สัน ใช้นั้น เรียกว่า ขอแค่ชนะ. มิหน่ายอุบายศึก อิอิ..ต้องยกนิ้วว่าสุดยอดไร้เทียมทานครับ...คหสต...อิอิอิ
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 331 วันที่ 8 - 14 ตุลาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 36 คอลัมน์ ร้ายสาระ โดย ศิลป์ อิศเรศ
#โกงเกมโชว์
panapapan
นักแสดงนำ
สมาชิก VIP
19 ธ.ค. 54 เวลา 11:44 6,233 6 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...