มิตรภาพในโลกของสัตว์ (ที่มนุษย์ควรเอาอย่าง!)

มิตรภาพในโลกของสัตว์ (ที่มนุษย์ควรเอาอย่าง!) posted on 23 Aug 2009 21:44 by dreamline  in animal

 

ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อนและมิตรภาพเป็น สิ่งสำคัญในชีวิต (สำหรับบางคนอาจเป็นปัจจัย 5) แม้แต่โจรห้าร้อยหรือนักการเมืองที่ชอบหักหลังปลิ้นปล้อนก็ยังต้องมีเพื่อน  แต่เพื่อนไม่ใช่สิ่งที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน เพื่อนแท้มาจากการ “ให้” เราให้สิ่งดีๆ กับเพื่อน และเราก็ได้รับสิ่งดีๆ กลับมาเช่นกัน 

อืม... เกริ่นมาทำงูเหลือมอะไรซะยืดยาว ผมต้องการจะบอกแค่ว่า แล้วสัตว์ล่ะ พวกมันมีเพื่อนบ้างหรือเปล่า

แน่นอนครับ สัตว์ชนิดเดียวกันมักมีการช่วยเหลือกัน เช่น การอยู่ร่วมกันเป็นฝูงหรือการช่วยกันหาอาหาร  แต่สำหรับสัตว์ต่างชนิด เรามักคุ้นกับภาพพวกมันกำลังต่อสู้ ไล่ล่า หรือกินกันมากกว่าภาพที่พวกมันช่วยเหลือกัน 

ที่จริงแล้วมีสัตว์หลายชนิดที่หยิบยื่น มิตรภาพและเป็นเพื่อนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่พวกมันก็พูดไม่ได้ แต่ยังอุตส่าห์เป็นเพื่อนกันได้ บางคู่ก็ช่างต่างกันเหลือเกิน หรือบางคู่ยังไม่เคยเห็นหน้ากันแต่กลับเป็นเพื่อนตายกันเสียด้วย  นี่แหละครับที่เขาว่ามิตรภาพไร้ไฟลัม (พรมแดน) 

เราลองมาดูเรื่องราวมิตรภาพที่น่ารักและน่า ทึ่งของเหล่าสัตว์โลกกันดีกว่า เผื่อมันอาจจะสอนใจมนุษย์อย่างเราที่ชอบก่อแต่ศัตรูกันได้บ้างนะครับ

------------------------------------------------

ความสัมพันธ์ของสัตว์มีอะไรบ้าง
ขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันก่อนนะครับ อาจคุ้นๆ กันมาบ้างตอนเรียน การที่สิ่งมีชีวิตสองชนิด (หรือมากกว่านั้น) อยู่ร่วมกันและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเรียกว่า อยู่กินกันฉันผัว-เมีย เอ๊ย ไม่ใช่ครับ เรียกว่า ภาวะอยู่ร่วมกัน (symbiosis) ซึ่งแบ่งได้เป็นหลายแบบ ได้แก่ ภาวะพึ่งพา (mutualism) คือ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ (+,+) ภาวะอิงอาศัยได้ประโยชน์ (commensalism) (+,0) ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์แต่อีกฝ่ายไม่ได้ประโยชน์ ส่วนภาวะปรสิต (parasitism) อีกฝ่ายได้ประโยชน์แต่อีกฝ่ายเสียประโยชน์ (+,-)

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.1 นกเอี้ยงกับควาย
ความสัมพันธ์ : เพื่อนต่างไซส์
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : นกเอี้ยง - อาหาร, ควาย – สุขภาพ

 

คู่หูสัตว์ที่ทุกคนรู้จักกันดีตั้งแต่เด็กคือ นกเอี้ยงกับควาย  คู่นี้เป็นเพื่อนแท้อมตะ นกเอี้ยงตัวน้อยจะคอยกินตัวแมลงหรือปรสิต เช่น ไรหรือเห็บ ตามตัวควาย  ควายเองก็ชอบใจที่แมลงที่สร้างความรำคาญถูกกินไป  แถมเจ้านกยังช่วยร้องเตือนภัยเวลามีอันตรายด้วย บางทีเราก็เห็นนกยางมาเกาะบนพี่ควายแทนนกเอี้ยง

แต่ที่น่าเศร้าคือเดี๋ยวนี้นกเอี้ยงค่อนข้าง เหงา เพราะควายหายไปจากบ้านเราเสียแล้ว หลังจากการเข้ามาของควายเหล็กคูโบต้า ซึ่งนกเอี้ยงก็ต้องพบกับความปล่าวเปลี่ยว หลังของควายเหล็กทั้งแข็งและไม่มีตัวอะไรให้กิน ไม่นุ่มเหมือนพี่ควายที่เคยอิงแอบ

พฤติกรรมของนกที่กินปรสิตบนตัวสัตว์ใหญ่พบได้ทั่วโลก ที่แอฟริกาก็มีเช่นกัน เช่น นกอ็อกซ์เพกเกอร์ (oxpecker) ที่ชอบหาปรสิตกินตามตัวควายป่าแอฟริกา แรด แอนทีโลป หรือนกบางชนิดก็ชอบความตื่นเต้น เช่น นกหัวโตอียิปต์ (Egyptian plover) ที่ชอบไปทำความสะอาดในปากของจระเข้ โดยจระเข้ก็จะนอนอ้าปากให้มันทำความสะอาดฟันตามสบาย คิดดูก็นับว่าทั้งเหม็นทั้งเสี่ยงนะครับ เผื่อเจ้าจระเข้มันเมื่อยหรือหิวขึ้นมา หงับ!

 

นกเอี้ยง : เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นพวกเอ็งเลย
ควาย : เรื่องมันเศร้าน่ะเอี้ยงเอ๊ย

 

นกออกเพกเกอร์ : ขี้หูอื้อเลยลุง
ควายป่าแอฟริกา : ถึงว่าเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินเสียงซอ

 

นกออกเพกเกอร์ : เอ้า พวกเรารุม
แอนทีโลป : นี่กรูสกปรกขนาดนี้เชียวเหรอ

 

นกหัวโตอียิปต์ : ห้ามคิดไม่ซื่อนะ พี่เข้
จระเข้ : อิอิอิ

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.2 ปลาพยาบาลกับปลาต่างๆ
ความสัมพันธ์ : คุณหมอกับคนไข้
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : ปลาพยาบาล – อาหาร, ปลาอื่นๆ – สุขภาพ

 

ไม่น่าเชื่อว่าในทะเลมีสถานีอนามัยชื่อดังอยู่ แถมยังบริการฟรีโดยไม่ต้องใช้บัตรทองหรือประกันสังคม  ปลาพยาบาล (cleaner wrasse) เป็นปลาตัวเล็กๆ ที่กินปรสิตตามตัวปลาอื่นเป็นอาหาร ปลาหลายชนิดที่ต้องการทำความสะอาดร่างกาย ต่างพากันแวะเวียนมาใช้บริการจากปลาพยาบาล  คล้ายกับสปาปลาที่ให้ปลาตอดหนังเท้า (ตีน) ซึ่งกำลังฮิตอยู่ในตอนนี้  แม้แต่ปลาไหลมอเรย์จอมโหดหรือปลาหมอทะเลตัวยักษ์ ก็ยอมให้ปลาเล็กๆ ตัวนี้ว่ายชอนไชไซ้ไปตามตัว  บางตัวถึงกับว่ายน้ำมาต่อคิวรับบริการกันเลย เจ้าปลาพยาบาลเองก็เต็มใจบริการ เพราะมันจะได้อาหารอร่อยๆ กิน 

ปลาพยาบาลยังทำหน้าที่เป็นหมอฟันด้วย ปลาบางตัวจะอ้าปากให้มันเข้าทำความสะอาดตามซอกฟัน เห็นมั้ยครับว่าฟันเป็นอวัยวะสำคัญขนาดไหน เพราะขนาดสัตว์ยังต้องดูแลรักษาฟันเลย ดังนั้นอย่าลืมแปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 หนนะครับ   

ตามแนวปะการังยังมีสถานีอนามัยอีกแห่งที่ดำเนินกิจการโดยกุ้งตัวเล็กๆ  ที่เรียกว่า กุ้งพยาบาล (cleaning shrimp)  กุ้งพยาบาลจะโบกก้ามไปมา เพื่อแสดงว่ามันพร้อมให้บริการ (คล้ายๆ ปั๊มน้ำมันหรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเลย) ปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่ต้องการรับบริการก็จะแวะมา กุ้งพยาบาลรับทำความสะอาดให้ทุกส่วนเช่นกัน 

ตามร้านอาหารต่างๆ น่าจะนำกุ้งพยาบาลมาใช้แทนไม้จิ้มฟัน พอกินเสร็จให้เจ้ากุ้งมันแคะขี้ฟันให้แทนก็คงสะดวกดี

 

ปลาพยาบาล : ขี้ไคลเธออร่อยจัง
ปลา A : อ๊างงงง อย่าไซ้ซอกคอสิ มันเฉียว

 

ปลาพยาบาล : หมอแนะนำให้ขูดหินปูนด้วยนะ
ปลา B : ถึงว่าพักนี้เสียวฟัน

 

กุ้งพยาบาล : ทำไมเช็ดรอยดำๆ นี่ไม่ออกซะที
ปลา C : ขอโทษนะ นั่นลายบนตัวตรูเอง

 

กุ้งพยาบาล : เฮ้ย ทำไมมีซากกุ้งติดเต็มเลย
ปลาไหลมอเรย์:  ก็มันของโปรดข้านี่หว่า

 

ปลาพยาบาล : แหวะ ไม่เคยเจอตัวอะไรปากเหม็นเท่านี้เลย
ปลา A : โทษที ตะกี้กินตำปูปลาร้ามา

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.3 ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล
ความสัมพันธ์ : เพื่อนร่วมเตียง
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : ปลาการ์ตูน – ที่อยู่ , ดอกไม้ทะเล – สุขภาพ

 

คู่ซี้คลาสสิคที่เห็นบ่อยคือ เจ้านีโม่ ปลาการ์ตูน (clown fish) กับดอกไม้ทะเล (sea anemone)  เรามักเห็นภาพปลาการ์ตูนอาศัยอยู่ในหนวดของดอกไม้ทะเลเสมอ จะว่าไปไม่เคยเห็นภาพมันอยู่ห่างดอกไม้ทะเลเลย!  หลายคนอาจคิดว่าดอกไม้ทะเลเป็นพืช แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) กลุ่มเดียวกับแมงกะพรุน  ในช่วงโตเต็มวัย มันจะไม่เคลื่อนที่ไปไหน และจะใช้หนวดที่มีเซลล์เข็มพิษ (cnidoblast) อยู่ตรงปลายจับสัตว์เล็กๆ หรือปลากินเป็นอาหาร 

แต่เจ้าปลาการ์ตูนสีสดใสน่ารักกลับหาญกล้า อาศัยหนวดของดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบภัยจากผู้ล่า  โดยที่มันเองก็ไม่ได้รับอันตราย เพราะมีเมือกที่ต้านพิษจากเซลล์เข็มพิษได้  และมันก็ตอบแทนเพื่อนด้วยการทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดตามเซลล์เข็มพิษให้  แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าดอกไม้ทะเลไม่ได้ประโยชน์อะไรจากปลาการ์ตูนมาก นัก และเชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ปลาการ์ตูนได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ซึ่งก็ยังไม่รู้แน่ เพราะยังไม่เคยมีใครถามดอกไม้ทะเลว่ามันได้ประโยชน์อะไรบ้าง

แต่ช่วงนี้ ดอกไม้ทะเลทั้งหลายอาจรู้สึกเหงา เพราะปลาการ์ตูนถูกมนุษย์จับไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก  ปลาการ์ตูนเองคงคิดถึงหนวดนุ่มๆ ของดอกไม้ทะเลที่เคยซุกไซ้ไปมา เช่นกัน

 

ปลาการ์ตูน : หนวดเธอนุ่มจังเลย
ดอกไม้ทะเล : ฉันใช้อาฟเตอร์เชฟทุกครั้งหลังโกนน่ะ

 

ปลาการ์ตูน : บ้านหลังนี้สีสวยน่าอยู่จัง
ดอกไม้ทะเล : ตามสบายเลยเพื่อน

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.4 ปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล
ความสัมพันธ์ : เพื่อนเที่ยว
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : ปูเสฉวน – ความปลอดภัย, ดอกไม้ทะเล – อาหาร

 

ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์เฟรนด์ลี่มากๆ ถึงไม่มีปลาการ์ตูน มันก็ยังมีเพื่อนตัวอื่นอีกคือ ปูเสฉวน (hermit crab) ปูที่อาศัยอยู่ในเปลือกหอย  สัตว์สองตัวนี้ชอบไปเที่ยวด้วยกันเสมอ  เริ่มแรกเจ้าปูเสฉวนจะมองหาดอกไม้ทะเลตัวที่สวยงามถูกใจ แล้วจับมาทัดหู เอ๊ย ไม่ใช่ จับมาติดไว้บนเปลือกหอยของมัน เพื่อให้ดอกไม้ทะเลช่วยพรางตัวมันจากผู้ล่า

ปูบางตัวอาจติดดอกไม้ทะเลไว้หลายตัว เจ้าดอกไม้ทะเลซึ่งปกติอยู่กับที่ ก็ชอบใจที่ได้เดินทางท่องเที่ยว เพราะทำให้มันได้รับอาหารมากกว่าตอนอยู่กับที่ รวมทั้งมีโอกาสได้แพร่พันธุ์ไกลขึ้นด้วย

แต่ดอกไม้ทะเลก็คงต้องเหงาอีกเช่นเดิม เมื่อปูเสฉวนเริ่มหายหน้าไป หลังจากเปลือกหอยถูกมนุษย์เก็บไปเป็นเครื่องประดับ ปูจึงไม่มีเกราะป้องกันตัวและลดจำนวนลง ยังดีที่ปูเสฉวนไม่อยู่ในขวด แล้วเอาดอกไม้ทะเลมาติดไว้บนขวดแทน 

อืม... คิดๆ ดูแล้วการกระทำของมนุษย์มีผลกระทบต่อสัตว์เป็นลูกโซ่จริงๆ

 

ปูเสฉวน : น้องดอก เราจะไปเที่ยวไหนกันดี
ดอกไม้ทะเล : ไปฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงันดีกว่าพี่ฉวน

 

ปูเสฉวน : มันต้องควงทีสองตัวแบบนี่
ดอกไม้ทะเล : อย่าทำน้องหล่นน่ะคุณพี่

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.5 ปลาบู่ทะเลกับกุ้งดีดขัน
ความสัมพันธ์ : เพื่อนร่วมรู
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : ปลาบู่ทะเล – ที่อยู่, กุ้งดีดขัน – ความปลอดภัย

 

คู่ซี้ในท้องทะเลอีกคู่ที่สนิทกันมากจนร่วมรูเดียวกัน (รูในที่นี้หมายถึงที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ช่องในร่างกาย) คือ ปลาบู่ทะเล (shrimp goby) กับกุ้งดีดขันหรือกุ้งตาบอด (blind shrimp)  ทั้งคู่อาศัยอยู่ในรูที่กุ้งเป็นผู้ขุดและเป็นผู้ทำความสะอาดรู ปลาบู่จะมาพบกุ้งแล้วก็ขออยู่ร่วมรูด้วย

เพื่อตอบแทนน้ำใจ ปลาบู่ทะเลจะคอยเตือนภัยเวลามีศัตรูมา เพราะกุ้งดีดขันมีสายตาที่แย่มากๆ เวลามันขึ้นมาหากินเหนือรู จึงถูกศัตรูล่าได้ง่ายๆ  แต่เมื่อมีปลาบู่อยู่เคียงกาย กุ้งดีดขันจะเอาหนวดข้างหนึ่งแตะตัวปลาบู่ไว้ ถ้าศัตรูมา ปลาบู่ทะเลจะเตือนภัยโดยโบกหาง แล้วทั้งคู่ก็จะรีบหนีลงรูด้วยกัน โดยกุ้งดีดขันจะเป็นฝ่ายหนีลงไปก่อน  พอปลอดภัยแล้วพวกมันก็จะโผล่หน้าออกมาจากรู และหากินใหม่

เมื่อถึงกลางคืนกุ้งก็จะปิดปากรู แล้วพวกมันก็อยู่ในบ้านแสนอบอุ่นด้วยกัน จนรุ่งเช้ามันก็จะเปิดปากรูและออกหากินกัน เรียกได้ว่าเป็นมิตรภาพร่วมรูจริงๆ 


  ปลาบู่ : ทางสะดวกแล้ว ออกมาได้
กุ้งดีดขัน : ขอบใจหลายเพื่อนบู่

 

กุ้งดีดขัน : ตานี้ไพ่สวยเว้ย ช่วยดูต้นทางให้ด้วยนะ
ปลาบู่ : ไม่ต้องห่วง ตำรวจยังไม่มา

 

ปลาบู่ : พวกเราไม่เคยมีปัญหาเรื่องแย่งรูนะ
กุ้งดีดขัน : อืม มีรูเดียวก็แบ่งกันใช้ได้

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.6 นกฮันนีไกด์กับแบดเจอร์กินน้ำผึ้งและมนุษย์
ความสัมพันธ์ : เพื่อนกิน
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : นกฮันนีไกด์ – อาหาร, แบดเจอร์กินน้ำผึ้ง – อาหาร, มนุษย์ – อาหาร

 

ปกติแล้ว สัตว์ต่างๆ มักแย่งอาหารกันเพื่อความอยู่รอด แต่มีสัตว์บางชนิดที่ช่วยกันหาอาหาร ตัวอย่างเช่น นกฮันนีไกด์ (honeyguide) กับแบดเจอร์กินน้ำผึ้ง (honey badger)  คู่หูคู่นี่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา นกฮันนีไกด์ชอบกินตัวอ่อนผึ้งและไขจากรังผึ้ง แต่มันเองทำลายรังผึ้งไม่เก่งนัก บางครั้งจึงต้องหาเพื่อนมาช่วย ซึ่งก็คือเจ้าแบดเจอร์กินน้ำผึ้ง 

เมื่อพบรังผึ้ง นกฮันนีไกด์ก็จะบินไปหาเจ้าแบดเจอร์กินน้ำผึ้งที่อยู่ในโพรง แล้วส่งเสียงร้องประมาณว่า “ฉันเจออาหารแล้วๆ” เจ้าแบดเจอร์กินน้ำผึ้งก็จะรีบวิ่งตามนกไปทันที เมื่อเจอรังผึ้ง มันก็ใช้เล็บและฟันที่แข็งแรงทำลายรังและกินน้ำผึ้งอย่างเอร็ดอร่อย  และเมื่อกินเสร็จ ก็ถึงตานกฮันนีไกด์กินตัวอ่อนและไขผึ้งบ้าง 

นกฮันนีไกด์นับว่าผูกมิตรเก่งและรู้จักใช้คน เพราะมันยังมีเพื่อนอื่นๆ ที่มาช่วยทำลายรังผึ้งอีก นั่นก็คือ มนุษย์  นกฮันนีไกด์จะร้องเรียกชาวพื้นเมืองในแอฟริกาไปหาน้ำผึ้ง  มันจะบินนำไป ถ้าพวกเขาตามไม่ทัน เจ้านกก็จะบินย้อนกลับมาหา  เมื่อชาวพื้นเมืองเจอรังผึ้งและได้น้ำผึ้งแล้ว พวกเขาก็จะทิ้งรังไว้ให้นกเป็นการขอบคุณ  มีตำนานชาวพื้นเมืองเล่าว่า ถ้ามนุษย์เห็นแก่ตัวไม่ทิ้งรังผึ้งไว้ให้นกฮันนีไกด์ คราวหน้ามันจะพาเขาไปพบสิงโต ช้าง หรืองูพิษแทน ซึ่งอาจจะจริงก็เป็นได้...

แต่หลังๆ คู่นี้ไม่ค่อยได้คบหากันเท่าไรแล้ว เพราะเมื่อความศิวิไลซ์เดินทางมาหาชาวพื้นเมือง พวกเขาก็หันไปกินน้ำตาลแทนน้ำผึ้ง และพฤติกรรมพาไปพบน้ำผึ้งของนกฮันนีไกด์ก็ค่อยๆ หายสาบสูญไปเช่นเดียวกับร้านโชว์ห่วย (เกี่ยวกันมั้ย)

 

นกฮันนี่ไกด์ : อยากกินน้ำผึ้งแล้ว ไปหาเพื่อนมาช่วยดีกว่า

 

แบดเจอร์กินน้ำผึ้ง : เสียงเจ้านกฮันนี่ไกด์เรียกแล้ว

 

ชาวพื้นเมือง1 : เดี่ยวนี้พวกเฮาบ่ต้องง้อน้ำผึ้งแล้ว
ชาวพื้นเมือง2 : แม่น แต่ข้อยสงสารเจ้าฮันนีไกด์เหมือนกันนะ

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.7 มดกับเพลี้ย
ความสัมพันธ์ : เลี้ยงต้อย
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : มด – อาหาร, เพลี้ย – ความปลอดภัย

 

สัตว์บางตัวเลี้ยงดูเอาใจใส่สัตว์อีกตัว เหมือนลูก มดกับเพลี้ยบางชนิดมีความสัมพันธ์แบบนี้  เพลี้ยจะดูดน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร ในระหว่างกระบวนการย่อย บางส่วนของน้ำเลี้ยงจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำหวาน  มดชอบกินน้ำหวานนี้ มันจึงมาตีสนิทกับเพลี้ย โดยคอยดูแลปกป้องเพลี้ยจากศัตรู เช่น เต่าทอง เพลี้ยก็ตอบแทนโดยให้น้ำหวานกิน 

เมื่อไรที่มดต้องการน้ำหวาน มันจะใช้หนวดแตะตัวเพลี้ยเบาๆ เป็นสัญญาณว่า “ตะเองๆ เค้าหิวแระ” จากนั้นเพลี้ยก็จะเบ่งน้ำหวานออกมาทางตูด มดก็จะเลียตูด เอ๊ย ดูดกินกินน้ำหวานจากเพื่อน (กูรักมึงว่ะ) ของมันอย่างเอร็ดอร่อย 

มดยังดูแลไข่ของเพลี้ยด้วย  ในฤดูหนาวมันอาจนำไข่เพลี้ยเข้าไปในรัง และเมื่อตัวอ่อนออกจากไข่ มดก็จะพาตัวอ่อนไปไว้บนพืชที่มีน้ำเลี้ยง และคอยดูดกินน้ำหวานนั้น พฤติกรรมนี่น่าจะใกล้เคียงการ “เลี้ยงต้อย” ของมนุษย์

 

เพลี้ย : พี่มดๆ ช่วยด้วย เต่าทองบุก!
มด : ไม่ต้องห่วง พี่จัดการเอง

 

มด : อร่อยจัง จ๊วบ
เพลี้ย : ว้าย! บัดสี อายเค้านะ

มด : ขอน้ำหวานหน่อยสิ
เพลี้ย : เดี๋ยวขอเบ่งก่อนนะ แพร่ดๆ

------------------------------------------------

คู่ซี้ No.8 ปลวกกับโปรโตซัว
ความสัมพันธ์ : เพื่อนตาย
สิ่งดีๆ ที่ได้จากเพื่อน : ปลวก – อาหาร, ความอยู่รอด, โปรโตซัว – อาหาร, ความอยู่รอด

 

มิตรภาพที่น่ายกกย่องที่สุด น่าจะเป็นของปลวกกับโปรโตซัว (protozoa – สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายสัตว์)  คู่นี้เป็นพื่อนตายที่ขาดกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยเห็นหน้ากันเลย (เห็นแต่ไส้!)  เนื่องจากในลำไส้ปลวกมีโปรโตซัวที่ชื่อ ไทรโคนิมฟา (Trichonympha) อาศัยอยู่ ถ้าไม่มีโปรโตซัวนี้ ปลวกก็จะย่อยสลายไม้ให้เป็นสารอาหารไม่ได้  ในขณะที่โปรโตซัวก็ได้อาหารจากการย่อยสลายไม้ให้ปลวก  ถ้าจับทั้งคู่แยกกัน มันจะตายไปในที่สุด  ช่างเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่จริงๆ

ว่าแต่เจ้าโปรโตซัวที่ว่า เข้ามาอยู่ในร่างกายปลวกได้อย่างไร โปรโตซัวพวกนี้คงไม่ได้อยู่ในอสุจิหรือไข่ของปลวกแน่ๆ  ปลวกไม่ได้มีโปรโตซัวตั้งแต่เกิด มันจะได้โปรโตซัวมาขณะที่มันยังเล็กเป็นตัวอ่อน  ปลวกพี่เลี้ยงของมันจะเอาอาหารที่มีโปรโตซัวนี้อยู่มาให้กิน จากนั้นมันก็จะได้รับโปรโตซัวไปไว้ในลำไส้ และอยู่ร่วมกันต่อไป สุดยอดมั้ยล่ะ

ซึ่งจะว่าไปมนุษย์เองก็มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์อยู่ในลำไส้เหมือนกัน ซึ่งมันก็ช่วยเรา เราก็ช่วยมัน 

 

ปลวก : ส่งไม้ไปแล้ว เตรียมย่อยได้เลยเพื่อน
โปรโตซัว : มาเลย กำลังหิว ว่าแต่ไม้เถื่อนหรือเปล่า 

 

ปลวก : หน้าตาเพื่อนรักในไส้เราเป็นแบบนี้เองเหรอ
โปรโตซัวไทรโคนิมฟา : หล่อมั้ยล่ะ


นี่แค่ตัวอย่างเท่านั้นนะครับ ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เป็นเพื่อนกัน หรือแม้แต่สัตว์กับพืชก็มีตัวอย่างอีกมากมาย  ความสัมพันธ์ของเหล่าสัตว์นี้แสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตต่างต้องพึ่งพาอาศัย กัน  สัตว์ยังรู้จักคำว่าเพื่อนและมิตรภาพ มนุษย์เองก็ควรจะดูเป็นตัวอย่างนะครับ เพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ มนุษย์เองก็ควรรักและผูกมิตรกันไว้มากๆ อย่าแบ่งแยก อย่าแตกสามัคคี อย่าทำลายกันเองเลย คนชาติเดียวกันแท้ๆ อายปลวกกับโปรโตซัวมันบ้างเถอะ

------------------------------------------------

แหล่งอ้างอิง
ข้อมูลบางส่วนดัดแปลงจากบทความที่ผมเคยเขียนลงนิตยสารฉบับหนึ่ง
Animal ของ David Burnie
Animal Behavior ของ Lee C. Drickamer
Animals of the World : Parragon Book
Biology ของ Raven Johnson
http://sky.scnu.edu.cn/life/class/ecology/chapter/Chapter15.htm
http://www.thewildclassroom.com/biomes/speciesprofile/coralreef.html
ภาพประกอบ
จากอินเทอร์เน็ต

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...