แจ๊ดแจ๋จัดจ้าน....แจ่มแต่ไม่แจ๋วสไตส์ บริทนีย์ สเปียร์ส

Music Shines : ‘Femme Fatale’ แจ๊ดแจ๋จัดจ้าน...แจ่มแต่ไม่แจ๋วสไตล์ บริทนีย์ สเปียร์ส / พอล เฮง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 สิงหาคม 2554 00:26 น.
 
Share
 
           paulheng_2000@yahoo.com        ‘แด๊นซิ่ง ควีน’ ราชินีโลกเต้นรำในทศวรรษที่ 2 ของยุค 2000 ยังมีการขับเคี่ยวฟาดฟันกันอย่างถึงพริกถึงขิง ตาต่อตาฟันต่อฟันในรูปแบบดนตรีแด๊น-พ๊อพ, คลับ-แด๊นซ์, อิเล็กทรอนิกส์แด๊นซ์ และอิเล็กทรอนิกส์-ฮิพฮอพ หรืออิเล็กทรอ ฮอพ ที่จะหาเทรนด์หรือแนวโน้มใหม่ๆ มาสะกดหูมาสะกิดใจและสกัดสายตาคนฟังให้แช่นิ่งตะลึงงันกับพวกเธอ
       
       การมาถึงของ เลดี้ กาก้า (Lady GaGa) ที่กระแทกคนฟังจนอยู่หมัด โดดเด่นขึ้นมาสุดกู่จากการนำเสนอตัวเองต่อสื่อและการแสดงบนเวที การจัดการภาพลักษณ์และแฟชั่นที่สามารถตรึงทุกอย่างให้มีจุดศูนย์รวมหรือ โฟกัสที่ตัวเธอ และที่สำคัญคือ ดนตรีและเนื้อหาในบทเพลงที่เธอเป็นคนเขียนเองร่วมกับนักแต่งเพลงและโปรดิว เซอร์ แสดงถึงตัวตนของเธอออกมาค่อนข้างสูง และไม่ตามอย่างใครในตลาดเพลง
       
       คนที่มาก่อนต่างก็ตาตื่นและใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ เพราะความแรงของเลดี้ กาก้า กันโดยถ้วนทั่ว เพราะเธอสามารถก้าวข้ามกระโดดอย่างรวดเร็วจากพ๊อพสตาร์มุ่งสู่เบอร์หนึ่งใน ความเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการเพลงฝ่ายหญิง
       
       คริสติน่า อกีเลร่า (Christina Aguilera) ขอร่วมแจมท้าชิง เจ้าแม่เพลงแด๊นซ์-พ๊อพดั้งเดิม ไคลี่ มิโนค (Kylie Minogue) พยายามฟื้นฟูและรักษาสถานะเดิมไว้ ละติน-พ๊อพสตาร์ เจนนิเฟอร์ โลเปซ (Jennifer Lopez)หรือ เจ.โล (J.Lo) ก็พยายามขยับปรับตัวเองสู่วงการคลับแบงเกอร์อย่างเต็มฝีเร่ง รวมถึงซูเปอร์สตาร์สายเออร์เบิ้น แบล๊ค มิวสิค อย่าง บียอนเซ่ (Beyoncé) ก็ไม่ยอมทิ้งระยะห่างของงานสตูดิโออัลบั้มตัวเอง แม้แต่ รีฮันน่า (Rihanna)ที่พุ่งแรงด้วยภาพลักษณ์ความแรงของดนตรีเออร์เบิ้น พ๊อพ ที่สะท้านทรวงคนรุ่นใหม่ ก็เร่งรีบในการที่จะอยู่ในกระแสไม่ให้ตกหล่นจากการมาถึงของเลดี้ กาก้า
       
       มิพักต้องพูดถึง มาดอนน่า (Madonna) ราชินีเพลงพ๊อพเจ้าของตำแหน่งที่ระยะหลังชักใส่เกียร์ว่างไม่ค่อยอินัง ขังขอบกับเทรนด์ดนตรียุคใหม่เท่าไหร่
       
       สังเวียนแด๊นซ์ของโลกดนตรีที่แย่งชิงกันของนักร้องสาวในสายพ๊อพสตาร์ ยุคปัจจุบัน จึงขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดถึงพริกถึงขิงว่า ใครจะนำเทรนด์ดนตรีและแฟชั่นเต้นรำได้ยอดเยี่ยมที่สุด
       
       แน่นอน บริทนีย์ สเปียส์ (Britney Spaers) ก็ไม่ตกขบวน ย่อมมีชื่อเป็นแคนดิเดทหรือผู้ท้าชิงในฐานะเจ้าหญิงแห่งวงการเพลงพ๊อพและ ซูเปอร์สตาร์ทีนพ๊อพในอดีต ซึ่งค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมา หลังจากเสียศูนย์จิตแตกไประยะหนึ่ง
       
       อัลบั้ม ‘Femme Fatale’ เป็น บทพิสูจน์อีกบทหนึ่งในการยกระดับตัวเอง เพื่อก้าวข้ามผ่านพ้นจากกับดักความสำเร็จและแสดงพัฒนาการทางความคิดและดนตรี ไปสู่เป้าหมายใหม่ ซึ่งนั่นก็คือ ความเป็นซูเปอร์สตาร์ในฐานะ ‘แด๊นซิ่ง ควีน’ ที่ใครๆ ก็อยากไปถึง
       
       งานเพลงสตูดิโออัลบั้มชุดนี้ สามารถมองได้หลายมุม เพราะถือเป็นขั้วต่อของปัจจัยหลายๆ อย่างในการพิสูจน์ตัวเอง ความพยายามพลิกสภาพทั้งทางดนตรี สถานะทางพ๊อพสตาร์ และชีวิตส่วนตัว เพื่อนำตัวเองสู่อีกมิติหนึ่ง        อดีตอันแสนหวาน
       
       ในเดือนมิถุนายน ปี 2010 (พ.ศ.2553) บริทนีย์ สเปียร์ส ยังรักษาสถานะที่เด่นดังเอาไว้ได้ในภาพรวม เมื่อถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 จาก 100 บุคคลที่เป็นเซเลบริตี้ที่ทรงอิทธิพลและเปี่ยมด้วยอำนาจหรือสมรรถภาพทางด้าน ชื่อเสียงของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเธอเป็นอยู่ในลำดับที่ 3 ของคนในวงการเพลงที่ถูกเลือกโดยฟอร์บส์ นิตยสารทางการเงินและเศรษฐกิจอันมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก
       
       ในปี 2003 (พ.ศ.2546) ในงานเอ็มทีวี วิดีโอ มิวสิค อวอร์ดส์ ปรากฏการณ์อันลือลั่นบนเวทีแสดงด้วยบทเพลง ‘Like a Virgin’ การขึ้นมาร้องเพลงพร้อมด้วยนักร้องคู่แข่งที่โดดเด่นแย่งซีนกับเธอในยุคสมัย แห่งความร้อนแรงนั้น บริทนีย์ สเปียร์ส กับคริสติน่า อากีเลร่า ร่วมกันร้องเพลงนี้ได้ครึ่งเพลงก็มีราชินีเพลงพ๊อพ มาดอนน่า โดดขึ้นมาร่วมวง และมีจุมพิตอย่างดูดดื่มระหว่างสามนักร้องบนเวที โดยเฉพาะการจูบแลกลิ้นหรือฟรองซ์ คิส ระหว่างบริทนีย์กับมาดอนน่า จนกลายเป็นความจดจำที่เล่าลือมาถึงทุกวันนี้ ในความร้อนแรงของสามสาวแห่งวงการเพลงพ๊อพโลกในขณะนั้น
       
       ล่าสุด บริทนีย์ก็ใช้สูตรเดิมด้วยการจูบอย่างดูดดื่มกับรีฮันน่า บนเวทีการแสดงของงานมอบรางวัลบิลบอร์ด มิวสิค อวอร์ดส 2011
       
       สำหรับแววของศิลปินในยุคเริ่มแรกของบริทนีย์ สเปียร์ส นอกจากพรสวรรค์ทางด้านการร้อง การเต้น และการแสดงแล้ว สิ่งที่มีอยู่ในตัวเธอที่ฉายรัศมีออกมา ซึ่งสำคัญที่สุดที่ไปเข้าตา แบรี่ ไวส์ ผู้บริหารค่ายเพลงจิฟ ที่บอกว่า ความโดดเด่นที่บริทนีย์มีอยู่นั่นก็คือ ดวงตาของพยัคฆ์ 'eye of the tiger' ซึ่งกลายเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งยวดที่เธอได้รับการเซ็นสัญญาในการเป็นนักร้อง ออกอัลบั้มมาในตลาดเพลง ซึ่งว่าไปแล้วก็เปรียบเสมือนการดูโหงวเฮ้งแบบศาสตร์ของคนจีนนั่นเอง
       
       หากจะเปรียบเทียบกับ เด็บบี้ กิ๊บสัน (Debbie Gibson) ในแง่ของความเป็นบับเบิลกัม พ๊อพ สตาร์ ในยุคทศวรรษที่ 80 ในยุคแรกเริ่มแรกของบริทนีย์ สเปียร์ส ได้นำดนตรีเค้าร่างของบับเบิลกัมพ๊อพสู่ความเป็นทีนพ๊อพสมัยใหม่ได้อย่างโดด เด่น ฉีกหนีไม่ตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของผู้มาก่อนในยุคทศวรรษที่ 80 แต่อย่างใด
       
       ในช่วงเวลา 12 ปีที่โลดแล่นอยู่ในแถวหน้าของวงการเพลงโลก (นับตั้งแต่ออกอัลบั้มชุดแรก) ถือว่าเธอประสบความสำเร็จอย่างมากในเชิงพาณิชย์ผ่านดนตรีและบทเพลงของเธอ เพราะมีถึง 5 อัลบั้มที่ขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ดของอเมริกา และมี 24 บทเพลงที่ขึ้นสู่ท๊อป 40 ของชาร์ตเพลงฮิตกระแสหลัก และกับยอดขายถึง 70 ล้านก๊อปปี้ จากอดีตที่เธอทำงานมา 6 สตูดิโออัลบั้ม ‘…Baby One More Time’ (1999) ‘Oops!... I Did It Again’ (2000) ‘Britney’ (2001) ‘In The Zone’ (2003) ‘Blackout’ (2007) และ ‘Circus’ (2008) รวมถึงอัลบั้มรวมเพลงที่ออกมาอีก 3ชุด แต่เธอยังไม่เคยไปถึงรางวัลแกรมมี่เลยแม้แต่รางวัลเดียว
       
       ซึ่งในวันเวลาที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพื่อให้บริทนีย์ก้าวข้ามผ่านจากซูเปอร์สตาร์ทีนพ๊อพขึ้นสู่ความหลากหลาย ขยายวงสู่ความเป็น ‘ราชินีพ๊อพ’ คนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2003 อัลบั้มชุดที่ 4 ‘In the Zone’ ของบริทนีย์ที่ออกวางจำหน่าย พร้อมกับตัดซิงเกิลแรกออกมา ‘Me Against the Music’ ได้มาดอนน่ามาฟีเจอริ่งหรือร้องร่วมในบทเพลงนี้ คล้ายมาเจิมให้บริทนีย์อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า เธอเป็นเจเนอเรชั่นต่อไปที่จะมารับไม้ตำแหน่งราชินีเพลงพ๊อพอยู่ในที
       
       นั่นก็แสดงให้เห็นขุมกำลังของเพลงเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ที่เธอตี แตกสู่คนฟังวงกว้างผ่านทีมเขียนเพลงและทำดนตรี แต่น่าเสียดายที่ทีมทำเพลงเองและชีวิตส่วนตัวของบริทนีย์ยังไม่สามารถทะลุ ความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่แหวกออกมาในบุคลิกที่จะนำไปสู่ความเป็นที่ หนึ่งของวงการเพลงพ๊อพสายสาวเซ็กซี่ ที่เปี่ยมด้วยไอเดียและความคิดบรรเจิดทั้งงานเพลง ดนตรี และการแสดงที่นำเทรนด์แฟชั่นในตลาดเพลงได้ ในทางกลับกันชีวิตส่วนตัวของเธอกลับเต็มไปด้วยจ่าวคาวฉาวโฉ่อย่างควบคุมไม่ อยู่        ‘femme fatale’ นัยยะแห่งชื่ออัลบั้ม
       
       การตั้งชื่ออัลบั้มถือมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับงานเพลงในแบบ สตูดิโออัลบั้ม เพราะเปรียบเสมือนการขมวดความคิดทั้งหมด เพื่อสรุปรวมให้กินความของความหมายทั้งเนื้อหาและดนตรีในทุกบทเพลงสื่อ สารออกมามากที่สุด
       
       เพราะฉะนั้นการเลือกคำว่า ‘femme fatale’ มาตั้งเป็นชื่อในอัลบั้มชุดที่ 7 ของบริทนีย์ สเปียร์ส จึงน่าจะมีนัยยะสำคัญที่สื่อความหมายของตัวเธอออกมาผ่านศัพท์คำนี้
       
       เพราะ femme fatale เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง หญิงที่ใช้เสน่ห์ยั่วยวนผู้ชายให้หลงใหล ซึ่งรากศัพท์น่าจะมาจากเทพปรกณัมของฮินดู ที่มีชื่อว่า ‘โมหิณี’ ซึ่งเป็นเทพแห่งความลุ่มหลง อันเป็นภาคอวตารของพระนารายณ์หรือพระวิษณุที่มาปราบอสูร ซึ่งเป็นอมตะจากการดื่มน้ำอมฤตที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทร
       
       ผู้หญิงที่ลึกลับและก่อให้เกิดความยั่วยวนยากที่จะห้ามใจ มีเสน่ห์ที่ทำให้ติดบ่วงรักด้วยแรงปรารถนาเกินที่จะต้านทาน แต่แฝงด้วยอันตรายและการทำลายล้างซึ่งนำไปสู่ความตาย แต่ความหมายในปัจจุบันของ femme fatale จะมีความหมายออกไปในทางลบอยู่พอสมควร เป็นพลังอำนาจและจริตของหญิงงามเมืองที่จะใช้ความงามของเธอเป็นเสน่หาล่อลวง ผู้คนไปสู่ความตายและหายนะ
       
       โดยเฉพาะผู้ชาย นั่นก็หมายถึง ‘ผู้หญิงโคตรอันตรายที่เปี่ยมด้วยความสวยและพลังดึงดูดทางเพศ’ อีกนัยหนึ่งเป็นผู้หญิงสุดสวยที่ทำงานสายลับหรือจารชนที่ล้วงความลับ โดยใช้เสน่ห์ทางเพศและร่างกายเป็นตัวล่อลวงและแลกเปลี่ยน
       
       แต่ในทางสังคมวิทยา femme fatale ก็เป็นคำที่ถูกนิยามหลากหลายออกไป แต่ที่ดูจะตรงกับความเป็นบริทนีย์ สเปียร์ส ค่อนข้างมาก คือ ผู้หญิงที่แหวกกรอบสังคมด้วยอิสระและเสรีทางปัจเจกอย่างน่ากลัวและหมิ่นเหม่ ต่อกฎหรือวิถีของเพศสภาพผู้หญิงในแบบประเพณีนิยมของแต่ละสังคม
       
       ข่าวคราวและข่าวคาวของเธอก็เป็นอาหารอันโอชะให้กับหนังสือพิมพ์หัวสี ประเภทแท็บลอยด์ และนักแอบถ่ายภาพหรือปาปาราซซี่เป็นอย่างดี แต่มองในมุมกลับกันไม่รู้ใครเป็นเหยื่อใครกันแน่ ข่าวฉาวจิตแตกจิตหลุดและบำบัดการติดยาที่ไม่ใช่เรื่องผลงานทางดนตรีและเสียง เพลงของเธอ สามารถทำให้เธออยู่ในกระแสความสนใจหลักของสังคมอย่างมิยอมตกหล่น และสามารถขายรูปภาพและเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยมูลค่ามหาศาลเช่นกัน
       
       ในโลกสมัยใหม่ที่ที่ผู้คนจ้องเสพแต่ข่าวสารข้อมูลเรื่องฉาวส่วนตัว ของผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะมุมในด้านมืดและด้านลบเป็นที่ชื่นชอบและสะใจ เนื่องด้วยปมริษยาที่อิจฉาในความมีชื่อเสียงเงินทองที่ฝังแฝงอยู่ในทุกผู้ ตัวคน ผู้คนจะมีความสุขและสาแก่ใจถ้าดารานักร้องยอดนิยมระดับพ๊อพสตาร์มีมลทินและ รอยด่างพร้อยในชีวิตส่วนตัวไม่แตกต่างจากคนธรรมดา และในฐานะบุคคลสาธารณะ ดารานักร้องเหล่านั้นก็ต้องได้รับผลสะท้อนกลับสาหัสเพิ่มเทียมเท่าตัวเช่น กัน
       
       กรณีศึกษาของบริทนีย์ เห็นได้เด่นชัดที่เริ่มต้นจากวัยเยาว์ในฐานะนักแสดงเด็กที่ประกวดและรุดหน้า เด็กร่วมรุ่นคนอื่นๆ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นที่โด่งดังพร้อมกันมาอย่าง จัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) และคริสติน่า อากีเลร่า จากรายการ ‘เดอะ นิว มิคกี้ เมาส์ คลับ’ ในช่วงปี 1993-1994 (พ.ศ.2536-2537)
       
       ว่าไปแล้วในช่วงต้นของชีวิตในวงการบันเทิงของบริทนีย์ สเปียร์ส ซึ่งอยู่ในยุคก่อนวัยรุ่นและช่วงวัยรุ่นเต็มตัวนั้น เธอและคนที่ข้องเกี่ยวบนเส้นทางในอาชีพสามารถปรุงแต่งความจัดจ้านแจ๊ดแจ๋ทาง การแสดงและร้องเพลงให้ผสมกับความน่ารักไร้เดียงสาได้อย่างลงตัว และมีการขับเคลื่อนผ่านพัฒนาการการร้องเพลงของเธอได้อย่างยอดเยี่ยม
       
       ความโด่งดังและสถานะของเจ้าหญิงแห่งวงการเพลงพ๊อพที่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อให้สอดรับกับชื่อเสียงในระดับโลกของเธอ ก็ต้องยอมรับในฝีมือการโปรดิวซ์และเขียนเพลงของทีมทำเพลงที่นำโดย แม็กซ์ มาร์ติน โปรดิวเซอร์ชาวสวีดิชซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นมาสเตอร์ มายด์ หรือคนบงการทางดนตรีและสร้างบุคลิกของบริทนีย์ สเปียร์ส ตัวจริงเสียงจริง
       
       เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ชื่อ ‘femme fatale’ มาเป็นชื่ออัลบั้มก็น่าจะผ่านกระบวนกลั่นกรองทางความคิดเพื่อนำเสนอนัยยะ สำคัญของชื่อ ในการที่บริทนีย์จะก้าวสู่สถานะของแด๊นซิ่ง ควีน ต่อไป อย่างไม่ต้องติดภาพกับอดีตอีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการก้าวข้ามผ่านสู่วุฒิภาวะทางอายุและดนตรีที่เข้มข้น และร้อนแรงมากขึ้น        แด๊นซ์กระจาย...สลายอดีต
       
       อดีตเจ้าหญิงแห่งวงการเพลงพ๊อพ ที่เคยถูกคาดหวังและดูจะมีความคาดหมายจากอุตสาหกรรมดนตรีว่า จะรับไม้ในตำแหน่ง ‘ราชินีพ๊อพ’ ต่อจากมาดอนน่า กับอัลบั้ม ‘Femme Fatale’ มีภาพรวมของงานเพลงและดนตรีที่ลื่นไหลกลมกล่อมลงตัว ซาวด์ที่ดึงดูดใจ ค่อนข้างที่จะเหมาะในดิสโก้ ปาร์ตี้ที่สามารถสร้างบุคลิกเฉพาะในแบบแด๊นซ์ ฟลอร์ พ๊อพ แบบบริทนีย์ สเปียร์ส ขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น
       
       โดยบริทนีย์ได้บอกถึงเจตนารมณ์ทางดนตรีของงานเพลงชุดนี้ว่า เธอต้องการสร้างอัลบั้มที่มีเสียงที่ดูสดใหม่สำหรับดนตรีเต้นรำตามคลับหรือ เปิดในรถเพื่ออุ่นเครื่องในการออกแสวงหาความสำราญและบันเทิงยามค่ำคืน ซึ่งแน่นอนต้องเป็นอัลบั้มเพลงแด๊นซ์แบบของเธอที่สามารถสร้างบุคลิกที่มี ความแตกต่างออกไป
       
       ความสำเร็จทางดนตรีของบริทนีย์ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่า เกือบทั้งหมดมาจากคนเขียนเพลงและทีมโปรดักชั่นทางดนตรีที่กำหนดทิศทางและ ความคิดสร้างสรรค์ผ่านจาก แม็กซ์ มาร์ติน ซึ่งถือเป็นคู่บุญคู่บารมีทางโลกดนตรียอดนิยม รวมถึงดร.ลุค ที่มีส่วนสำคัญในบทเพลงฮิตที่มีมากมาย
       
       แม้จะดูเหมือนว่าเธอจะมีเสียงร้องที่ค่อนข้างตกลงจากอดีตอยู่บ้าง รวมถึงเนื้อร้องที่ดูดาดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาแทนที่คือ ความเป็นพ๊อพหัวก้าวหน้าในกลิ่นอายของอวองท์-การ์ด พ๊อพ ที่มีการนำเทคนิคทางเสียงในสไตล์ดนตรีดับสเต็ปและพ๊อพหวานๆ ที่เป็นสไตล์ซูการี พ๊อพ มาผสมเขย่ารวมได้เก๋อยู่พอควร และก็เพิ่มความแข็งทื่อในโครงสร้างจังหวะแบบโรโบติค บีท และเอฟเฟ็คท์เสียงร้องเข้ามาแบบพองาม
       
       อัลบั้มชุดนี้เปรียบเสมือนการทบทวนถึงห้วงลึกภายในจิตใต้สำนึกของเธอ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มุมมองต่อความรัก ชีวิต และความเป็นไปของสิ่งรอบตัว เนื้อหาของเพลงในอัลบั้มชุดนี้โดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเต้นรำและเชิญชวน ปาร์ตี้ รวมถึงการแสดงออกของผู้หญิงเจ้าเสน่ห์และการตกหลุมรัก เพราะฉะนั้น อัลบั้ม ‘Femme Fatale’ น่าจะถือเป็นอัลบั้มที่ดีอีกชุดหนึ่งของบริทนีย์ ด้วยความตั้งใจที่จะแหวกออกจากแนวทางเดิมๆ มุ่งหน้าเพื่อนำไปสู่ดนตรีแบบปาร์ตี้เต้นรำอย่างไม่อ้อมค้อม โดยมีเนื้อหาที่บ่งชี้ถึงเรื่องเพศและความโศกเศร้าอันอบอวล ด้วยการวางธีมหรือใจความหลักของอัลบั้มชุดนี้แบบง่ายๆ เพื่อให้เข้าสู่ตลาดเพลงในแง่ความบันเทิงเริงรมย์มากที่สุด ด้วยเรื่องราวระหว่างเพศและปาร์ตี้ เนื้อร้องและความหมายในบางเพลงที่ดูกลวงโหวงและว่างเปล่า ความรู้สึกเหมือนอยู่ในคลับแด๊นซ์และเต้นรำในลักษณะเดอร์ตี้ แด๊นซ์ ผ่านบทเพลงและดนตรีของเธอ บนฟลอร์เต้นรำที่มืดสนิทและเสียงกระหึ่มก้องของดนตรีที่จะสร้างความตื่นเต้น อย่างรุนแรง
       
       เสียงร้องที่ใช้เครื่องปรุงแต่งให้ออกมาในอารมณ์ไซเบอร์-กัม-พ๊อพ หรืออธิบายง่ายๆได้ว่า เสียร้องแข็งทื่อก้องลอยกังวานแบบหุ่นยนต์ในรูปแบบเพลงลูกกวาดติดหูง่ายและ มีสัมผัสของความเป็นพ๊อพอยู่ ซึ่งว่าไปแล้วบริทนีย์ไม่เคยแสดงออกถึงความนักร้องที่คิดจะแหวกตัวเองให้ หลุดออกจากร่มเงาของทีมทำเพลง โดยมากำหนดทิศทางดนตรีและเขียนเพลงเอง ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้งานเพลงและดนตรีที่ขยายขอบเขตเข้าสู่โหมดเพลงแด๊นซ์ที่อยู่ในระดับที่ดี แต่ก็เป็นการกำหนดจากทีมทำเพลงทั้งสิ้น
       
       การแสดงถึงพัฒนาการที่จะก้าวสู่มิติของความเป็นแด๊นซ์พ๊อพอย่างเต็ม ตัวเพื่อสลัดทิ้งความเป็นทีนพ๊อพไว้เบื้องหลังให้เด็ดขาดอย่างคาดไม่ถึง โดยเสนอแนวความคิดผ่านทางบทเพลงและดนตรีที่มุ่งหน้าเข้าสู่ดนตรีเพื่อ ปาร์ตี้อย่างเต็มพิกัด โดยเฉพาะอารมณ์และการเต้นรำในแบบวิถีของเดอร์ตี้ แด๊นซ์ที่กรุ่นอวลกลิ่นอายของเรื่องทางเพศและความสลดรันทด แม็กซ์ มาร์ติน และ ดร.ลุค เป็นคู่หูนักผลิตเพลงฮิตที่อยู่แถวหน้าในโลกดนตรียอดนิยม ซึ่งมาทำหน้าที่หลักในงานเพลงชุดนี้ตามวาระถึง 7 เพลง จาก 12 บทเพลงในอัลบั้ม โดยยืนพื้นอยู่ที่ท่วงทำนองที่ติดหูง่ายสวยงามภายใต้จริตดนตรีแบบยูโรดิสโก ที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของงานดนตรีในชุดนี้ และมีโปรดิวเซอร์คนอื่นๆ มาแทรกในบทเพลงต่างๆ วางคั่นจังหวะเพื่อกันเลี่ยนหู
       
       ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ การโปรดิวซ์ของ บลัดไช (Bloodshy) และทีมโปรดิวซ์ที่ทำดนตรีในบทเพลง ‘How I Roll’ ให้พุ่งโดเด่นหลุดออกมาจากบทเพลงอื่นในอัลบั้ม ด้วยดนตรีเทคโนที่สวยอย่างแปลกประหลาดแต่ทว่าเข้ากับแฟชั่นเพลงอิเล็กทรอ ฮอพ ของยุคนี้
       
       44.02 นาที จาก 12 บทเพลงที่บรรจุอยู่ในอัลบั้ม มีการบันทึกเสียงและผสมเสียงในระดับที่ดีทำให้มวลรวมของเสียงดูสดใหม่และ กระจ่างแจ่ม บทเพลงเปิดหัวอัลบั้ม ‘Till The World Ends’ โดดเด่นที่เทรนซ์ ซินธิไซเซอร์ เน้นย้ำด้วยอิเล็กทรอบีท ซึ่งเนื้อร้องก็เป็นในสไตล์เพลงเต้นรำในคลับที่เป็นพิมพ์นิยม ดูเหมือนจะคมคายฉลาด กับซาวด์ดนตรีอิเล็กทรอพ๊อพทางยุโรปที่ผสมผสานกับซินธิ์ที่ลงตัว เป็นเพลงแด๊นซ์พ๊อพที่สนุกสนานและเหมาะกับการใช้เปิดเพื่อสร้างความสำราญ เริงรมย์เพื่อผ่อนคลายในยามเสร็จงานของเหล่าสาวๆ
       
       ‘Hold It Against Me’ ถือเป็นบทเพลงที่ใช้สไตล์ดนตรีแด๊นซ์-คลับได้อย่างดีเยี่ยมลงตัว หลอมละลายสู่สัดส่วนดนตรีดับสเต็ปที่ร้อนแรงเข้ามา ซึ่งเป็นการสร้างสีสันของดนตรีในอีกแบบของเพลงแด๊นซ์ที่รับอิทธิพลสไตล์ อังกฤษมา
       
       ‘Inside Out’ ไม่มีอะไรใหม่ในเชิงของความเป็นอิเล็กทรอนิกส์แด๊นซ์ ซึ่งมีซาวด์ดนตรีอย่างนี้มากมายจนเฝือหู เป็นบทเพลงที่มีซาวด์ล้าๆ และกรูฟช้าๆ สื่อความหมายซึ่งเสมือนการวิงวอนถึงความรักของเธอที่ทำให้มีบางสิ่งเพื่อที่ จะจดจำ แสดงให้เห็นถึงการนำกลิ่นอายและอิทธิพลทางดนตรีดับสเต็ปมาผสมผสานให้เกิด เสียงอึมครึมที่ขมวดอารมณ์ให้เกิดภาวะเศร้าซึมในอารมณ์เพลง
       
       ‘I Wanna Go’ มีบุคลิกทางดนตรีเน้นนำด้วยเสียงสังเคราะห์อย่างแท้จริง เป็นบทเพลงสนุกสนานที่ใช้ซาวด์ดิสโก้มาบิดทำให้ร่วมสมัยและดูเก๋ไก๋ด้วย เสียงผิวปากที่โดดเด่นและมีเสน่ห์ทำให้ตัวเพลงลอยออกมาอย่างน่าประทับใจ ซาวด์เก่าที่ดูเหมือนเชยแต่นำมาแปลงจนได้ใจคนรุ่นปัจจุบันอย่างชาญฉลาดอยู่ ในที
       
       บทเพลงที่เห็นถึงพัฒนาการและความแตกต่างจากแนวเพลงและดนตรีเดิมๆ แบบบริทนีย์ สเปียร์ส จากที่เคยเป็นมา เป็นพัฒนาการในด้านที่ดีขึ้น เสียงของเพอร์คัสชั่นหรือเครื่องเคาะที่ยืนพื้น รวมถึงการปรบมือแทรกเข้ามาสอดคล้องพ้องกับเสียงจากกลองสแนร์ที่คุมโทนรวม ทั้งหมดของดนตรีไว้ได้สมดุล รวมถึงเสียงจากดรัมแมชชีนที่วางจังหวะได้สวย เข้ากับเสียงร้องของเธอที่ใช้อารมณ์ธรรมดาๆ ไม่บีบเค้นมากอย่างลงตัว
       
       ที่มีเสน่ห์อีกอย่างก็คือเปียโนที่เล่นแบบไม่มากมายแต่สวยแทรกเข้ามา ได้ถูกส่วนและโดดเด่น ให้กลิ่นรสของเพลงและดนตรีที่แปลกออกไป ดูดิบๆ ประหลาดๆ แต่สละสลวย ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะไม่ใช่สูตรของเพลงที่เคยทำมาและตามอย่างในตลาดเพลง บทเพลง ‘How I Roll’ ใช้เทคนิคการร้องที่โดดเด่น เหมือนการท่องหลากไหลถ้อยคำต่อเนื่องมาจากกระแสสำนึก คล้ายการสะกดจิตคนฟัง ถือได้ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนวิธีคิดทางดนตรีไปข้างหน้าที่สำคัญของบริทนีย์ สเปียส์ ในอัลบั้มชุดนี้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นซาวด์ของดนตรีแด๊นซ์ที่เปี่ยมด้วยความสนุกสนานครื้นเครงและน่าพอใจ ในพัฒนาการของภาพรวมทางดนตรีที่เหมาะสมกับยุคสมัย มีการถ่ายเทเบสไลน์ในรูปแบบดนตรีดับสเต็ปมาสู่ความเป็นเพลงพ๊อพได้อย่างลง ตัว
       
       บทเพลง ‘Big Fat Bass’ ที่ได้วิลล์.ไอ.แอม (will.i.am) แกนนำทางดนตรีและความคิดของวงแบล๊ค อายด์ พ์ (Black Eyed Peas) ที่สร้างกลิ่นอายดนตรีฮิพฮอพไซบอร์กให้บริทนีย์ได้อย่างรื่นเริงและไม่หลุด บุคลิกไปมากนัก เป็นบทเพลงที่ดีเด่นอีกหนึ่งเพลง การมาฟีเจอริ่งและเขียนเพลงให้ของเขา ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เห็นมิติทางดนตรีของบริทนีย์ สเปียร์ส ที่หลากหลายและเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีเสน่ห์และสีสัน โดยผสมระหว่างบุคลิกของตัวเองกับเทรนด์ดนตรีอิทรอนิกส์-ฮิพฮอพ อย่างนวลเนียน
       
       บทเพลงที่บริทนีย์โชว์การร้องได้ดี ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้า เสียงซินธิไซเซอร์ที่รกเรื้อรุงรังและสากหูในบทเพลง ‘Trouble For Me’เป็นบทเพลงในแนวฟังง่ายชักชวนให้ลุกเต้นสบายในแบบอัพแอนด์ดาวน์ ในแบบบับเบิลกัม เฮ้าส์ พิมพ์นิยม ดูเหมือนง่ายๆ ไม่มีอะไร แต่ก็แฝงสีสันของดนตรีเทคโนที่ดูดีอยู่บ้างเช่นกันในแบบของบริทนีย์
       
       ‘Trip to Your Heart’ เป็นบทเพลงที่มีจุดเด่นอยู่ที่การร้องก่อนเข้าไปสู่ท่อนประสานเสียงที่ แสดงออกถึงน้ำเสียงที่สอดคล้องกับท่อนคอรัสอย่างแจ่มแจ๋ว รวมถึงซินธิไซเซอร์ที่สร้างซาวด์สังเคราะห์โอบอุ้มมวลเสียงในเพลงได้ดี มีกลิ่นอายดนตรีเทรนซ์ที่ฟุ้งลอยสวยงามด้วยเมโลดี้บ่งชี้ให้เห็นอารมณ์ เปี่ยมสุขที่ลอยออกมา แม้การเขียนเนื้อร้องอาจจะติดรูปแบบทางคำและอารมณ์ความรู้สึกแบบทีนพ๊อพแบบ เอาใจเด็กวัยรุ่นอยู่ก็ตาม
       
       บทเพลงที่ดูเหมือนหลงทางไปไกลใช่น้อย ‘Gasoline’ และน่าจะเป็นเพลงที่อ่อนที่สุดในอัลบั้มทั้งเนื้อร้องและดนตรีที่ทื่อดื้อ ตรง เริ่มต้นด้วยพลังขับทางเสียงกีตาร์ ก่อนที่จะระเบิดมาเป็นดนตรีแด๊นซ์พ๊อพที่ดาษดื่น เมื่อมาผสมกับคำร้องที่ใช้สัญลักษณ์แบบตรงไปตรงมาทำให้ดูอ่อนยวบยาบ
       
       เพลงที่มีโครงสร้างทางดนตรีจากเสียงอะคูสติคกีตาร์ใสกระจ่างกังวาน และฟลุ๊ตหม่นหวานแบบบทเพลงโฟล์คอยู่พอควร ซึ่งแปลกแยกแตกต่างจากบทเพลงอื่นๆ ในอัลบั้มโดยสิ้นเชิง บทเพลงปิดท้ายที่ชื่อ ‘Criminal’ ใช้วิธีการร้องเพลงให้ลงจังหวะที่สอดรับกับเสียงฟลุ๊ตที่ขับเปล่งกังวานสาก หูหม่นหมอง บริทนีย์ร้องเพลงนี้ได้ถึงอารมณ์เป็นอย่างมาก เสียงสวยเศร้าของเธอลอยอ้อยอิ่งแผ่กำจายความโศกลึกออกมาในเนื้อเสียงและน้ำ เสียงที่ตกกระทบสู่โสตคนฟัง ผนวกกับเสียงอะคูสติคกีตาร์ที่เป็นแกนเดินนำดนตรีภายใต้เสียงซินธิไซเซอร์ ที่อ่อนโยนครอบคลุมบรรยากาศในตัวเพลง เป็นเพลงพ๊อพที่มีเมโลดี้สวยงามผ่องแผ้ว เนื้อร้องลงถึงห้วงลึกภายในของคนสำนึกผิด แม้ความรักจะเลวร้ายแต่มันก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะยอมรับมัน
       
       การทอดอาลัยกับห้วงเวลาของวัยรุ่นที่ลาจากไป สู่โลกแห่งความจริงของความเป็นผู้ใหญ่ การใช้สร้อยที่ร้องท่อนประโยคว่า bum bum bum ซึ่งมีอารมณ์แบบบับเบิลกัม โดยเฉพาะเสียงฟลุ๊ตที่มีเมโลดี้ในแนวดนตรีของเทพนิทาน และจังหวะที่สดใสเหมือนอยู่ในอารมณ์ฤดูร้อนอันผุดผ่องที่ย้อนแย้งกับตัว เนื้อหาในเพลง สมบูรณ์แบบและเป็นอิสระของบทเพลงที่ดีเลิศโดยตัวมันเอง ที่ได้สมดุลลงตัวกับคนร้องเพลงอย่างยอดเยี่ยมในแบบร๊อคบัลลาดที่รับอิทธิพล มาจากมาดอนน่าและแอ๊บบ้า
       
       ภาพรวมของอัลบั้ม แม้จะเน้นหนักไปที่ดนตรีแด๊นซ์ โดยเฉพาะความใส่ใจเพื่อจะผลิตท่อนฮุคให้ติดหูติดปากโยกย้ายส่ายสะโพก โดยไม่ต้องสนใจถึงความลึกของเนื้อหาและดนตรีที่มีอยู่บ้างแต่พอสวย โดยมีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงและรวดร้าวจากอัลบั้มชุดนี้ ก็เข้าใจได้ทันทีเลยว่า บริทนีย์ต้องการที่จะแยกตัวเองออกจากการกระทำของเธอจากอดีต กลับขึ้นเวทีเพื่อก้าวสู่ความเป็นแด๊นซ์-พ๊อพ สตาร์ ยุคใหม่ด้วยการสื่อความหมายผ่านคำว่า ‘Femme Fatale’ ที่ใช้เป็นชื่ออัลบั้ม และต้องการเป็นผู้นำเทรนด์ดนตรีเต้นรำ รื้อฟื้นคืนชื่อเสียงในฐานะอันดับหนึ่งของโลกให้ได้อีกครั้ง เธอต้องยืนหยัดในฐานะเจ้าหญิงแห่งวงการเพลงพ๊อพและก้าวข้ามขึ้นสู่จุดที่สูง กว่าให้ได้
#เพลง #ผุ้หญิง
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
8 ส.ค. 54 เวลา 05:53 2,799 1
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...