10 สิ่งประดิษฐ์รอบหนึ่งพันปีที่ขาดไม่ได้

10 สิ่งประดิษฐ์รอบหนึ่งพันปีที่ขาดไม่ได้

:



นิตยสาร Popular Science เป็นนิตยสารรายเดือนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วไป ตลอดปี ค.ศ. 1999 นิตยสารฉบับนี้ ได้ตีพิมพ์ชุดสารคดีพิเศษ " Inventions " ( สิ่งประดิษฐ์คิดค้น ) เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์คิดค้นรวม 100 สิ่ง ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์มากเป็นพิเศษในรอบหนึ่งพันปี เป็นการทบทวนมองย้อนอดีตผลงานจากสมอง และฝีมือมนุษย์ในรอบสหัสวรรษที่สองที่กำลังจะจากไป

ในการคัดเลือกสิ่งประดิษฐ์ 100 สิ่งแห่งสหัสวรรษที่สอง ทีมงานของนิตยสารได้จัดแบ่งสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเป็นด้านต่างๆ เช่น "การบิน และอวกาศ" " การผลิต และอุตสาหกรรม " เสียง และแสง " " เกษตรกรรม " ฯลฯ มาถึงฉบับสุดท้ายของปี ค.ศ. 1999 คือ ฉบับเดือนธันวาคม เป็นการนำเสนอ 10 สิ่งประดิษฐ์คิดค้นในรอบหนึ่งพันปีที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ธรรมดาสามัญทั่วไปมากที่สุด จะเรียกเป็น "10 สิ่งประดิษฐ์ที่ขาดไม่ได้" ก็ได้ ดังต่อไปนี้

 



(1) เลนส์แว่นตา แว่นสายตาช่วยคนสายตาสั้น - สายตายาว - สายตาเอียง สำคัญแค่ไหน ก็ลองนึกภาพดูก็แล้วกันว่า ถ้าเกิดแว่นสายตาที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันทั้งหมด สลายตัวหายไปหมดพร้อมๆ กัน ด้วยอำนาจพลังพิเศษใดๆ ก็ตาม แล้วคนทั้งโลกจะเป็นอย่างไรใครเป็นผู้ประดิษฐ์แว่นสายตาขึ้นมา ? มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า โรเจอร์ เบคอน ( Roger Bacon ) นักวิทยาศาสตร์ และพระชาวอังกฤษ ได้กล่าวในปี ค.ศ. 1268 ถึงประโยชน์ของการใช้เลนส์สร้างจากแก้วใสเป็นแว่นขยายส่องตัวหนังสือเล็กๆ บนหน้ากระดาษให้คนมีปัญหาทางสายตาอ่านได้ แต่การประดิษฐ์แว่นสายตาน่าจะได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประเทศจีน เพราะมาร์โค โปโล ( Marco Polo ) ได้รายงานในปี ค.ศ. 1275 ว่า ได้เห็นคนจีนในประเทศจีนใช้แว่นขยายทำด้วยเลนส์ช่วยการอ่านหนังสือ โดยที่แว่นขยายนั้น มีสายห้อยแขวนติดกับหูแว่นสายตาประเภทไบโฟคอล ( Bifocal ) สำหรับการมองไกล และใกล้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1784 สำหรับเบนจามิน แฟรงคลิน และคอนแทคเลนส์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1887

 



(2) แบตเตอรี่แอลคาไลน์ แบตเตอรี่ชนิดก้อนที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เป็นชนิดแบตเตอรี่แอลคาไลน์ (Alkaline Battery) เพราtใช้งานได้นานที่สุด และสะดวก อีกทั้งราคาไม่แพงนัก ใช้ได้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่าง และเสียง ดังเช่น เครื่องรับวิทยุขนาดเล็ก และอุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ที่ใช้ไฟฟ้าไม่มาก เฉพาในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ทุกวันนี้ คนอเมริกันใช้เงินปีละ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซื้อแบตเตอรี่ชนิดแอลคาไลน์แบตเตอรี่ชนิดแห้งที่ใช้สำหรับงานทั่วไปชนิดแรก เริ่มปรากฏมีขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ต่อมาอีกไม่กี่ทศวรรษ แบตเตอรี่ชนิดคาร์บอน - สังกะสี ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ และเป็นที่นิยมแพร่หลาย จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1959 ลูว์ เออร์รี ( Lew Urry ) แห่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการแบตเตอรี่เป็นก้อน ก็พัฒนาแบตเตอรี่แบบแอลคาไลน์ขึ้นมาสำเร็จ และทำให้ชีวิตของคนทั่วโลก สะดวก สบาย และมีความสุขกันมากขึ้น

 



(3) นาฬิกาควอร์ตซ ควอร์ตซเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่หาง่ายในธรรมชาติ มีสภาพเป็นผลึกสารประกอบของซิลิกอน และออกซิเจน เรียกผลึกซิลิกา หรือซิลิกอนออกไซด์ เมื่อต้นทศวรรษ ปี 1920 ดับบลิว จี. แคดี ( W. G. Cady ) พบว่า ผลึกควอร์ตซ จะสั่นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน วอร์เรน มาร์ริสัน ( Warren Marison ) แห่งเบลล์เทเลโฟน เป็นคนนำผลึกควอร์ตซ มาสร้างเป็นนาฬิกาข้อมือควอร์ตซเรือนแรกที่รักษาเวลาได้อย่างแม่นยำ ในปี ค.ศ. 1967 หลังจากนั้น นาฬิกาควอร์ตซก็เข้าแทนที่นาฬิกาใช้ลานเป็นกลไกการรักษาเวลามาถึงทุกวันนี้

 



(4) เทปยึดติดเทปยึดติด ( Adhesive Tape ) หรือเทปเหนียว หรือที่มักเรียกกันเป็น สก๊อตเทป เป็นวัสดุที่เสมือนหนึ่ง ยึดอะไรต่ออะไรให้เข้าที่เข้าทางทั่วทุกหนแห่ง ทั้งสิ่งของเครื่องใช้และเรื่องของสุขภาพ เทปยึดติดเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นเมื่อต้นทศวรรษปี 1920 โดย ดิกค์ ดรูว์ ( Dick Drew ) แห่งบริษัท 3 M

 



(5) หลอดไฟฟ้า โลกปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีหลอดไฟฟ้า โทมัส แอลวา เอดิสัน ( Thomas Alva Edison ) มิใช่คนแรกที่ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า แต่เขาเป็นคนสร้างหลอดไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงๆขึ้นมาสำเร็จ หลังการทดลองหาวัสดุที่จะใช้ทำไส้หลอดไฟฟ้าให้คงทนอยู่นานประมาณ 1,600 ชนิด เขาก็ประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1879 เมื่อเขาทดลองใช้เส้นด้ายเย็บผ้าที่เผาอย่างระมัดระวังในเตาอบ จนกระทั่งมีสภาพเป็นเส้นคาร์บอน และหลอดไฟฟ้าใช้เส้นด้ายเผาของเขาก็ให้แสงสว่างอยู่ได้นานถึงสี่สิบชั่วโมง ในวันที่ 21 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1879 หลอดไฟฟ้าปัจจุบันใช้ไส้ทังสเตน

 



(6)ซิป ( Zipper ) เป็นสิ่งประดิษฐ์อีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน นักประดิษฐ์ชาวชิคาโกชื่อ วิทคอมบ์ จัดสัน ( Whitcom Judson ) เป็นผู้ประดิษฐ์ซิปชนิดแรกขึ้นมา และนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกที่ Chicago Worlds Fair ปี ค.ศ. 1893 แต่ไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้คนนัก คือ ขายได้น้อย เพราะซิปติดง่าย ทำงานไม่คล่องตัว สองทศวรรษต่อมา กิเดียน ซุนด์แบกด์ ( Gideon Sundback ) วิศวกรชาวสวีเดน - อเมริกัน ได้ปรับปรุงซิปให้ใช้งานได้ดีขึ้น ทำให้ซิปได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้น สำหรับชื่อ " Zipper " เป็นชื่อที่ตั้งโดย บี.เอฟ. กูดริช ( B.F. Goodrich ) ในปี ค.ศ. 1923 เป็นชื่อตั้งเลียนเสียงการเคลื่อนไหวขณะที่ซิปถูกรูดให้ทำงานเปิดหรือปิดซิป

 



(7) ปากกาลูกลื่น "จะเขียนหนังสือให้สวย ต้องใช้ปากกาหมึกซึม แต่ถ้าจะเขียนหนังสือให้ได้เร็ว ก็ต้องใช้ปากกาลูกลื่น" ข้อความนี้เป็นจริงเมื่อปากกาลูกลื่นเริ่มจะถูกนำออกเผยแพร่ให้ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่มายุคสมัยนี้ยกเว้นคนที่ต้องใช้ปากกาพิเศษ สำหรับวาระพิเศษ เช่น ใช้ลงนามในสัญญา หรือ สนธิสัญญาที่มีความสำคัญเป็นพิเศษเท่านั้น คนทั่วๆ ไปก็แทบจะไม่รู้จักปากกาหมึกซึมกันแล้ว เพราะได้รู้จัก และใช้ปากกาลูกลื่นมาเกือบตลอดชั่วชีวิตปากกาลูกลื่นเป็นผลงานการประดิษฐ์ของ จอห์น เลาด์ ( John Loud ) ชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1888 แต่มิใช่เพื่อการเขียนหนังสือ หากเพื่อใช้ทำเครื่องหมายบนแผ่นหนังเพื่อลงสี

ปากกาลูกลื่นได้รับการพัฒนาเรื่อยมา แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้ ปัญหาคือ ปากกาลูกลื่นเหล่านั้น ยังเขียนได้ไม่สม่ำเสมอ หมึกรั่วซึม และติดขัดเป็นประจำ ปากกาลูกลื่นที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ คือ หมึกแห้งเร็ว และไหลสะดวก เป็นผลงานการพัฒนา และจดสิทธิบัตรเอาไว้ในปี ค.ศ. 1938 ของสองพี่น้องชาวฮังการี ชื่อ ลาซโล บิโร ( Lazlo Riro ) และ จอร์ช บิโร ( Georer Biro ) ปากกาลูกลื่นเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในชื่อของปากกาบิก ( Bic ) ซึ่งเป็นผลงานการปรับปรุงโดย ชาวฝรั่งเศส มาร์เซล บิช ( Marcel Bich ) ข้อเด่นที่สุดของปากกาบิก คือ ราคาถูก

 



(8) ทัปเปอร์แวร์ มีบ้านเรือนใดบ้างในโลก ที่ไม่มีภาชนะพลาสติกบรรจุ หรือเก็บวัสดุนานาชนิด รูปร่างทั้งธรรมดา และแปลก มีสีสันและสวยงาม ที่รู้จักเรียกกันว่า " ทัปเปอร์แวร์ " ( Tupperware ) ทัปเปอร์แวร์เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นค่อนข้างใหม่ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1942 จากนักเคมีของบริษัทดูปองต์ ชื่อ เอิร์ล ทัปเปอร์ ( Earl Tupper ) ผู้นำเอาพลาสติกชนิดใหม่ของบริษัท คือ โพลีเอทีลีน แล้วนำมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุหลากสีมีรูปร่างลักษณะแล้วแต่จะออกแบบให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ และความสวยงามชื่อของทัปเปอร์แวร์ก็มาจากชื่อของทัปเปอร์เองมีผู้ผลิตอื่นๆ ผลิตภาชนะบรรจุแบบเดียวกับทัปเปอร์แวร์ขึ้นมา และใช้ชื่ออื่น แต่ปรากฏว่าชื่อ ทัปเปอร์แวร์ เป็นชื่อที่ติดตลาด สำหรับภาชนะพลาสติกชนิดนี้เสียแล้ว ถึงทุกวันนี้

 



(9) คลิปหนีบกระดาษ งานเอกสารหลากหลายประเภท จะยุ่งยากแค่ไหน ในการเก็บให้เป็นระเบียบ ให้ใช้ และค้นหาได้ง่าย ถ้าไม่มีคลิปหนีบกระดาษ ( Paperclip ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลิปหนีบกระดาษโลหะขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีส่วนเป็นปลายมนสองด้าน ประกบกันอยู่ คลิปหนีบกระดาษ เป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของชาวนอร์เวย์ชื่อ โจฮาน วาเลอร์ ( Johan Vaaler ) แต่เนื่องจากประเทศนอร์เวย์ไม่มีระบบการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ โจฮาน วาเลอร์ จึงขอจดสิทธิบัตรในประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1899 ชาวนอร์เวย์ภูมิใจในสิ่งประดิษฐ์ของคนนอร์เวย์นี้มาก จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวนอร์เวย์จะติดคลิปหนีบกระดาษเป็นสัญลักษณ์แสดงความรักชาติ

 



(10) แถบยึดติด นอกเหนือไปจากเทปยึดติด ( Adhesive Tape ) แล้ว สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานในลักษณะคล้ายกับเทปยึดติด แต่ใช้งานในลักษณะต่างกันตรงที่ประกอบด้วยส่วนเป็นแถบสองหน้า โดยที่อาจเป็นสองหน้าของวัตถุชิ้นเดียวกัน หรือเป็นสองหน้าของแถบสองชิ้น ที่ต้องใช้ประกบกัน หน้าหนึ่งมีส่วนคล้ายเป็นตะขอเล็กๆ เต็มหน้า อีกหน้าหนึ่งมีลักษณะหยาบคล้ายเต็มไปด้วยขน แต่จริงๆ แล้วประกอบด้วยส่วนเป็นห่วงหรือบ่วงเล็กๆ เมื่อจัดแถบสองแถบนี้ประกบกัน ก็จะยึดติดกันคล้ายถูกยึดด้วยกาว นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันกับชุดเสื้อผ้าบางแบบที่ไม่ต้องการใช้กระดุมเสื้อหรือซิป และสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ดังเช่น กระเป๋า ถุงบรรจุสิ่งของ ฯลฯ

แถบยึดติดนี้ เป็นผลงานการประดิษฐ์ในปี ค.ศ. 1948 ของวิศวกรชาวสวิส ชื่อ จอร์ช เดอ เมสทรอล ( Georee de Mestral ) ชื่อภาษาอังกฤษของแถบยึดติดนี้ คือ Velcro ( เวลโคร ) ผู้ประดิษฐ์ เป็นคนตั้งชื่อสิ่งประดิษฐ์นี้เอง จากคำภาษาฝรั่งเศส " Velour " ( แปลว่า " กำมะหยี่ " ) กับ " Crochet " ( แปลว่า " การถัก " )
7 ก.ค. 54 เวลา 13:32 8,991 3 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...