พาเที่ยว วัดม่วง

.

.

.


 

คำ เรียก คนมีสี มักใช้กับคนในเครื่องแบบ ด้วยความที่ทำงานไม่มีเครื่องแบบใส่ ก็เลยไม่ได้มีโอกาสเป็นคนมีสีกับเขาบ้างสักที คำว่าสีกับเส้นก็มักจะมาด้วยกัน ถ้าเป็นคนไม่มีสีก็มักจะไม่มีเส้นด้วย สีที่มีกันส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบสีเดียว ที่มีมากกว่าหนึ่งสีก็เห็นมีอยู่อย่างสามสี ฉายาของท่านรองนายกรัฐมนตรี ส่วนเจ็ดสีก็เป็นทีวีเพื่อคุณ แบบที่ไม่ยอมเลือกอะไรสักสีหรือกี่สีก็คงเป็น หลากสี นั่นเอง

คน ยังมีสีได้ วัดก็มีสีได้เหมือนกัน วัดที่ว่านี้ก็คือ วัดม่วง อยู่ที่ บ้านหัวตะพาน หมู่ที่ 6 ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง คงจะไม่มีใครค้านว่า ม่วง ไม่ใช่ชื่อเรียกสี พอได้เข้าไปในวัดแล้วก็ยังเต็มไปด้วยสีสันอีก เพราะมีอะไรอีกตั้งหลากหลายมากมายที่เอามารวมใส่ไว้ด้วยกันอยู่ในบริเวณวัด ถนนที่จะใช้เดินทางไปวัดนี้คือ ทางหลวงหมายเลข 3195 อ่างทอง-วิเศษชัยชาญ-สุพรรณบุรี ช่วงระหว่างตัวเมืองอ่างทองกับอำเภอวิเศษชัยชาญ ออกจากตัวเมืองอ่างทองไปประมาณ 8 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 1 กม.

วัด ม่วงถ้าไปดูตามประวัติก็ว่ากันว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุง ศรีอยุธยา เมื่อคราวที่เสียกรุงก็ถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพังและถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ท่านได้มาบูรณะสร้างให้เป็นวัดขึ้นมาใหม่ มาเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไปก็ตอนที่สร้างหลวงพ่อใหญ่เสร็จเมื่อ ปี 2550 เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่กลางแจ้งขนาดความสูงเกือบ 100 เมตร

เข้า ไปในบริเวณวัดแล้วก็เหมือน ๆ กับวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไป คือมีร้านค้าไว้ให้บริการทั้งที่เป็นแบบร้านเรือนไม้ถาวร และแผงค้าชั่วคราว ถึงจะไม่ได้มีร้านมาเปิดขายกันมากมายแบบตลาดใหญ่ แต่ก็พอมีให้นักซื้อได้เดินชมอยู่บ้าง คนที่ยังไม่ได้กินข้าวมาก่อน มาถึงที่นี่แล้วก็มีอาหารขาย

รวมไปถึงพวกพืชผัก ผลไม้ ของแห้ง อาหารแปรรูป แบบชาวบ้าน

ที่ จะเจอก่อนเพราะอยู่ต้น ๆ ทางต่อจากร้านค้าก็คือ วิหารเจ้าแม่กวนอิม ก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าวัดนี้มีหลากหลายสีสัน ยังไม่ได้ไหว้พระพุทธ ก็เจอเข้ากับพระโพธิสัตว์ก่อนแล้ว ถึงจะต่างนิกายกันบ้าง แต่ก็เป็นพุทธเหมือนกัน

เป็น วิหารพระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ ปางพันมือ ซึ่งปรากฏเรื่องราวอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนวัดม่วงนั้นสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ซึ่งเป็นพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน ประสาคนห่างวัดถ้าไม่มองถึงความต่าง  หินยานกับมหายานก็ล้วนเป็นยานที่จะพาผู้คนไปสู่ความหลุดพ้นปลายทาง หากต่างก็จะช่วยกันทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์ซ้ายขวา ก็จะขับเคลื่อนยานพุทธศาสนาให้ทะยานยิ่งรุ่งเรืองยาวนาน

ภาย ในวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปบูชาของพระอวโลกิเตศวร พระกวนอิมโพธิสัตว์ ปางพันมือ ซึ่งบางแห่งจะมีเรียกต่อท้ายด้วยว่าเป็น ปางพันมือพันตา และบางแห่งก็เรียกเสียจนยากที่จะจำว่า พระอวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์ รูปบูชาที่ทำขึ้นนี้จะมีมือครบพันมือหรือเปล่าคงไม่มีใครไปนับ แต่เท่าที่สังเกตเห็นมีของที่อยู่ในสองมือตรงหน้าตักท่าน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นพระธาตุด้วยหรือเปล่า

ที่ มาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ปางพันมือพันตานี้ เล่ากันว่าสมัยที่มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระสหัสประภาศานติสถิตยตถาคตพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสธารณี หรือบทสวด ที่เรียกว่า มหากรุณาธารณี แก่พระอวโลกิเตศวร ซึ่งเมื่อท่านได้ฟังจบก็บรรลุถึงภูมิที่ 8 แห่งพระโพธิสัตว์ จึงตั้งปณิธานว่า หากในอนาคตท่านจะสามารถทำประโยชน์สุขให้แก่ปวงสรรพสัตว์ได้ ก็ขอให้มีมือพันมือ ตาพันตา ในเดี๋ยวนั้น แล้วท่านก็มีมือและตาอย่างที่ขอนั้นจริง ๆ ซึ่งเรื่องพันมือพันตานี้น่าจะมีนัยความหมายถึงการที่ท่านได้เฝ้าดูทุกข์สุข และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือปวงสรรพสัตว์อย่างกว้างขวางและทั่วถึง

หอกลองกับหอระฆังอยู่บนหอเดียวกัน หอกลองอยู่ข้างล่างเป็นกองเพลใช้ตีบอกเวลาสิบเอ็ดโมง ส่วนหอระฆังต้องขึ้นไปตีข้างบน

ถัด ไปจากหอกลองและหอระฆัง เป็นวิหารที่มีชื่อเรียกยาว ๆ ว่า พระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ความหมายของชื่อเรียกจบลงตั้งแต่คำว่า พระวิหารแก้ว นั่นแล้ว ส่วนรัตนพราหมณ์ กับสุวรรณปาล นั้นเป็นสองนามสกุลของผู้มีจิตศรัทธา

พระ วิหารแก้วเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น กว้างประมาณ 16 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร ติดกระจกแก้วประดับทั้งข้างในและข้างนอกสะท้อนแสงระยิบระยับ ประตูและหน้าต่างก็ใช้บานกระจก ก็เลยเรียกชื่อว่าพระวิหารแก้ว สร้างเมื่อปี 2540 ใช้เงินไป 25 ล้านบาทกว่า

ก่อน เข้าไปในพระวิหารแก้วก็จะได้เห็นทั้งพญานาคและมังกรเลื้อยกันอยู่เต็มไปหมด มีทั้งที่เป็นสีทองและสีเงินซึ่งเป็นสีที่มีความหายเป็นมงคลเกี่ยวกับเรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ พญานาคก็จะเลื้อยอยู่เป็นหัวและราวบันได ส่วนมังกรก็จะเลื้อยอยู่บนเสาสูง

เข้า ไปข้างในแล้วก็จะเห็นทั้งผนังและเสาพรายแพรวแวววาวเต็มไปด้วยแก้วประดับ ส่วนเพดานเป็นกระจกที่เวลาแหงนมองขึ้นไปก็จะเจอคนหน้าตาเหมือน ๆ กับตัวเรากำลังคว่ำหัวมองก้มลงมา

พระ ประธานในพระวิหารแก้วเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตัก 79 นิ้ว ไม่แน่ใจว่าจะเรียกชื่อท่านว่า หลวงพ่อเงิน หรือเปล่า

เพราะตัวองค์พระนั้นหล่อด้วยเงินแท้ ๆ หลวงพ่อเกษมท่านหล่อสร้างตั้งแต่ปี 2539 ใช้เงินไป 5 ล้านกว่า

ภาย ในพระวิหารแก้วโดยรอบยังเรียงรายไปด้วยรูปปั้นหล่อของบุคคลที่ผู้คนเคารพ บูชา รวมไปถึงรูปปั้นหล่อของพระเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ของผู้คน เรียกว่าไม่ต้องไปเที่ยวตระเวนให้เหนื่อย มาที่นี่ที่เดียวก็ได้กราบไหว้บูชาท่าน แต่ถ้าจะทำบุญให้ครบก็อาจจะต้องเตรียมเงินมามากหน่อย เพราะด้านหน้ารูปปั้นหล่อของแต่ละท่าน ก็จะมีบาตรตั้งอยู่ซึ่งที่ฝาเจาะเป็นช่องไว้ให้หยอดเงินทำบุญกัน

ไม่ ได้มีอยู่แค่รูปบูชาของบุคคลทางพุทธศาสนา แต่ยังมีรูปปั้นหล่อที่เป็นรูปเคารพตามความเชื่ออยู่อีกหลายหลาก ช่วยเพิ่มสีสันของความต่างที่ถูกนำมารวมไว้ในสถานที่แห่งเดียวกันนี้

คน ชอบทำบุญคงถูกใจเพราะมีที่ให้เลือกทำบุญอยู่มาก ได้อิ่มบุญกลับบ้านไปก็มีความสุข คนที่ยังไม่ค่อยจะมีเงินติดอยู่ในกระเป๋าก็ไม่ต้องกังวลเรื่องบุญ เพราะ บุญ หรือ ปุญญ แปลว่า การชำระ คือการทำให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ถ้าไปเปิดพระไตรปิฎกก็จะเห็นทางสร้างบุญว่ามีอยู่ด้วยกันถึง 3 ทาง คือ ทาน ศีล ภาวนา นอกจากการให้แล้ว ถ้ารักษาศีล หรือไปทำภาวนาจิต ก็ได้บุญเหมือนกัน ยิ่งถ้าไปดูตามอรรถกถา ยังมีช่องทางบุญเปิดไว้อีกมาก ฟังธรรมก็ได้บุญ ฟังแล้วส่งต่อธรรมก็เป็นการส่งต่อบุญ ขยันตั้งใจทำงานก็เป็นบุญ เห็นคนอื่นทำบุญแล้วรู้สึกปิติยินดีไปกับเขาด้วยก็ยังได้บุญ

ที่ พระวิหารแก้วยังมีโลงแก้วประดับมุกซึ่งบรรจุร่างของหลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ เอาไว้ ซึ่งท่านได้จัดเตรียมโลงแก้วนี้ไว้ และสั่งไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพว่าไม่ให้เผาร่างของท่าน แต่ให้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์

หลวง พ่อเกษม อาจารสุโภ เป็นผู้ที่มาบุกเบิกบูรณะวัดม่วงแห่งนี้ให้เปลี่ยนสภาพจากวัดร้าง จนมีความเจริญเติบโตอย่างที่เห็นตั้งแต่ปี 2525 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดม่วงตั้งแต่ปี 2527 จนท่านมรณภาพเมื่อปี 2544 ด้วยอายุเพียง 54 ปีเศษ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่มีผู้คนมาหาท่านทั้งกลางวันและกลางคืน ว่ากันว่าท่านมีคาถาอาคม ก็เลยมาให้ท่านเสกเป่ารักษาตัวกันบ้าง หรือไม่ก็มาขอหวยกันบ้าง ทำให้ได้เงินบริจาคทำบุญอยู่มาก ท่านคิดจะสร้างจะทำสิ่งใดก็มีผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมด้วยเสมอ

ที่ ชั้นล่างของพระวิหารแก้วยังทำเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่าไว้ ได้ยินว่ามีทั้งพระพุทธรูป เครื่องเบญจรงค์ พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และเศียรโขน แต่วันที่ไปมีป้ายกั้นปิดทางลงไว้ ก็เลยไม่มีโอกาสได้ลงไปดู

ฝั่ง ตรงข้ามกับพระวิหารแก้วเป็นพระอุโบสถของวัดม่วง ที่แปลกมีความแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ ก็คือ กำแพงรอบโบสถ์สร้างเป็นรูปดอกบัวบานสีชมพู

เป็น กำแพงรูปกลีบดอกบัวที่ซ้อนกันอยู่สามชั้น ไม่รู้ว่ากำแพงรูปทรงแบบนี้จะมีอยู่ที่ไหนกันอีกบ้าง ตอนนี้ยังไม่รู้ก็ต้องเชื่อไว้ก่อนว่านี่แหละเป็นกำแพงรูปดอกบัวที่ใหญ่ที่ สุดในโลก

เข้า ไปภายในก่อนถึงตัวโบสถ์เป็นลานกว้างรูปวงกลม บริเวณแนวขอบริมกำแพงดอกบัว จะมีรูปปั้นหล่อของพระสงฆ์ที่เป็นเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศอยู่ทุก ๆ กลีบดอกบัว รายล้อมอยู่ตลอดแนว

เห็นประตูโบสถ์ปิดอยู่ ก็เลยไม่ได้เดินเข้าไปดูข้างในโบสถ์อีกเหมือนกัน

ออกกลับออกมานอกกำแพงดอกบัว เดินต่อไปตรงลานที่อยู่ถัดไป เคาะระฆังซึ่งแขวนเรียงรายกันอยู่เป็นราว

จากนั้นก็มาทำบุญตักบาตรข้าวสารเสริมดวงชะตากับพระประจำวันเกิด

ไม่ ได้ซื้อข้าวสารติดไปด้วยก็ไม่เป็นไร ทางวัดมีเครื่องจำหน่ายข้าวสารอัตโนมัติไว้ให้ แค่หยอดเหรียญ 10 บาท ใส่เข้าไป เดี๋ยวข้าวสารก็จะไหลออกมาใส่ขันที่วางอยู่ มีทัพพีไว้ให้ใช้ตักข้าวสารใส่บาตรด้วย

ลาน แถว ๆ นี้นี่แหละ ที่เต็มไปด้วยหลากหลายสีสันจนแทบจะจับทิศจับทางไปถูกว่าจะไปแนวไหน เพราะเห็นมีทั้งแนวซอฟท์คอร์และแนวฮาร์ดคอร์ เป็นลานที่รวมรูปปั้นต่าง ๆ ไว้มากมาย เริ่มต้นจากเหล่าเทวดาประจำวันเกิด ที่เรียงไล่กันไปตั้งแต่ พระสุริยเทพ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ และพระเสาร์

ตาม มาด้วยเหล่าเทวดาประจำปีเกิด อย่างปีชวดก็เป็นเทวดาผู้ชาย ว่ากันว่าคนเกิดปีนี้ก็เลยเป็นคนแคล่วคล่องว่องไว ถึงจะมีอำนาจแต่ก็เป็นคนธรรมะธรรโม มีอารมณ์ศิลปิน ชอบอะไรที่สวย ๆ งาม ๆ เรื่องเพศตรงข้ามไม่ค่อยชวดเหมือนชื่อปีเกิด ปีฉลูนั้นเป็นมนุษย์ผู้ชาย ก็เลยมีความรักโลภโกรธหลงอย่างคนทั่ว ๆ ไป แต่ด้วยความที่เป็นผู้ชายก็เลยมีลักษณะที่อดทน เป็นผู้นำ ชอบเกมการต่อสู้ ขยันใฝ่หาความรู้ พูดอะไรไปคนก็มักจะให้ความเชื่อถือ

ส่วน ปีขาลนั้นเป็นผีเสื้อผู้หญิง ท่าทางจะดุและออกจะหยิ่ง ๆ เชิด ๆ อยู่ด้วย ก็เลยเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเอง รักสนุก ชอบทำอะไรตามใจตัว กล้าได้กล้าเสีย เปิดเผยตรงไปตรงมา แล้วก็ยังชอบวุ่นวายอยู่กับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ สำหรับปีเถาะเป็นมนุษย์ผู้หญิง ว่ากันว่าเป็นคนที่มีความเมตตา จิตใจอ่อนโยน แต่ก็แฝงไว้ด้วยแรงริษยาตาร้อน เป็นคนละเอียดถี่ถ้วนเรื่อยไปจนถึงจู้จี้จุกจิก ออกจะขี้บ่นไปบ้าง หลงไหลอะไรได้ง่าย ๆ อยู่เหมือนกัน มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศมากกว่าคนปีอื่น

ปี มะโรงงูใหญ่เป็นเทวดาผู้ชาย ก็เลยเป็นคนที่มีบุญวาสนาบารมีมากหน่อย มีบริวารรุมล้อมโดยเฉพาะสาว ๆ หน้าตาระดับนางฟ้า หรือไม่ก็เพื่อนเยอะ เพราะเป็นคนหุ่นเฟิร์มมีเสน่ห์หน้าตาดี ก็เลยมีทั้งชื่อเสียงและแฟนคลับ ส่วนพวกงูเล็กปีมะเส็งเป็นมนุษย์ผู้ชาย ก็คล้าย ๆ คนปีฉลูนั่นแหละ แต่ออกจะดุเดือดเลือดพล่านมากกว่า ไม่ค่อยยอมคน เป็นคนร้อนแรงชอบเล่นกับไฟ ถ้ารู้ว่าเป็นคนอารมณ์ร้อน ก็ไปหางานเกี่ยวกับน้ำทำจะได้ช่วยให้เย็นลง อะไรทำที่เกี่ยวกับน้ำคงพอจะช่วยได้ ขยันหาความรู้อยู่แล้วเดี๋ยวก็คิดออก

ปี มะเมียเป็นเทวดาผู้หญิงแสดงถึงความมีอำนาจ แต่จะเหนือกว่าเฉพาะก็พวกมนุษย์ผู้ชาย ถ้าไปเจอพวกเทวดาผู้ชายเข้าก็จ๋อยอยู่เหมือนกัน อารมณ์ออกจะร้อน ๆ แต่ก็โกรธง่ายหายเร็ว นิสัยดื้อดึงเอาแต่ใจ ถึงจะเห็นแข็งข้างนอก แต่ข้างในก็ซ่อนความอ่อนไว้ สำหรับปีมะแมก็เป็นเทวดาผู้หญิงเหมือนคนปีมะเมีย ลักษณะก้เลยคล้าย ๆ กัน จะต่างกันหน่อยก็ตรงที่แพะนั้นตัวเล็กกว่าม้า ถึงรูปร่างจะเล็ก ๆ ไม่บึกบึน แต่ก็สวยสง่าพอที่จะแสดงความหยิ่งในตัวเองได้ แถมยังมีความใจบุญสุนทานอีก

ปี วอกเป็นผีเสื้อผู้ชาย พูดจาคล่องแคล่วจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดีจนถึงออกจะไปทางเจ้าชู้ ได้ทำงานที่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องจะรุ่งโรจน์ดี ถนัดที่ชอบจะทำงานร่วมกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือไม่ก็มีนิสัยติดเป็นคนเจ้าระเบียบเรียบร้อย ขี้ใจน้อยอยู่ด้วยเหมือนกัน ปีระกาเป็นผีเสื้อผู้ชาย นิสัยคล้าย ๆ กับพวกลิง แต่รูปร่างออกจะผอมบาง และอารมณ์ก็ดูจะเปราะบางมากกว่าพวกลิง ลุ่มหลงอะไรง่าย ๆ เหมือนกัน แล้วไม่ค่อยมีน้ำอดน้ำทน ยอมแพ้อะไรได้ง่าย ๆ เหมือนกัน แต่เพื่อนเยอะส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง

ปี จอเป็นผีเสื้อผู้หญิง นิสัยเป็นคนหนักแน่น มีอารมณ์มั่นคง จริงจังกับชีวิต แบบที่จะมาเหลาะแหละทำเล่น ๆ ถอยออกไปให้ห่างได้เลย นิสัยออกจะดุ ๆ หน่อยแบบนางยักษ์ กล้าได้กล้าเสีย ก็เลยชอบช่วยเหลือผู้อื่นแบบใจถึงพึ่งได้ สุดท้ายปีกุนเป็นมนุษย์ผู้หญิง นิสัยและอารมณ์ก็เลยเป็นอะไรที่บาง ๆ เบา ๆ อ่อนไหว รักสวยรักงาม ชอบอะไรที่เกี่ยวกับน้ำและความเย็น ขนาดขายน้ำก็ยังรวย หรืออย่างน้อยก้ต้องมีความเลือดเย็นอยู่บ้าง เป็นคนละเอียดรอบคอบ มีโอกาสได้เดินทางไปเมืองนอกเมืองนาเหมือนกัน

เขียน มาเป็นตุเป็นตะ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแบบนี้ไปที่วัดม่วงก็ไม่ได้เจอหรอก ต้องเข้ามาเที่ยวที่บล็อกนี้นี่แหละถึงจะอ่านเจอ ออกมาจากเมืองเทวดาแล้วก็ต้องตัดเปลี่ยนอารมณ์ เห็นเก๋งจีนแบบนี้เหมือนเปลี่ยนฉากไปอีกคนละดินแดน ในเก๋งจีนนั้นมีรูปปั้นหล่อของเจ้าแม่กวนอิมปางพันมือพันตาอยู่

รูป ปั้นหล่อเจ้าแม่กวนอิมในท่าประทับยืนบนดอกบัวเหนือหลังมังกร ว่ากันว่าเป็นปางที่ไปอธิษฐานขอในเรื่องการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งแล้วจะ ประสบผลสำเร็จ

แล้ว ก็มีอีกหลากหลายเทพเจ้าของจีนที่คงจะมีหลุดหายไปบ้าง ไม่ได้ถ่ายภาพเทพเจ้าองค์ใดมา ก็หวังว่าท่านคงจะไม่ว่าอะไร เพราะมีอยู่เยอะจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และไล่ลำดับไม่ถูกว่าใครใหญ่กว่าใคร ยังดีที่เขาเขียนชื่อบอกไว้ เอาเป็นว่าเล่ากันไปเรื่อย ๆ ก็แล้วกัน ได้มาแค่ไหนก็แค่นั้น อย่างองค์นี้คือ เทพไฉ่ซิงเอี้ย เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เห็นพวกเจ้าหนี้ชอบบูชาท่านในท่าถือกระบองนั่งหรือเหยียบอยู่บนหลังเสือ เขาว่าตามหนี้คืนได้ไม่ค่อยพลาด

เจ้า แม่ทับทิมเป็นเจ้าแม่แห่งท้องทะเลและท้องน้ำ เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่จริงเมื่อพันกว่าปีก่อนในมณฑลฮกเกี๋ยน แต่เรื่องเล่าถึงอิทธิฤทธิ์จากปากต่อปาก นาน ๆ เข้าก็เลยกลายเป็นปาฏิหาริย์

ตี่ จู่เอี้ย หรือเทพเจ้าที่ คนที่เคยไปบ้านคนจีนคงจะต้องเคยเห็นศาลเจ้าเล็ก ๆ สีแดง ตั้งอยู่ที่พื้น ขอให้ช่วยคุ้มครอง และนำแต่สิ่งที่ดี ๆ เป็นมงคลเข้าบ้าน

ไต๋ ฮงกง หรือ หลวงปู่ไต้ฮง เชื่อว่าท่านมีชีวิตอยู่จริงในมณฑลเจ๋อเจียง เมื่อประมาณเกือบ 1000 ปีก่อน ท่านมีชื่อเสียงในเรื่องของจริยวัตรที่มากด้วยเมตตาธรรม ท่านออกธุดงค์ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยภิบัติต่าง ๆ เมื่อมีเหตุให้มีคนล้มตายจำนวนมาก ท่านก็ไปช่วยเก็บศพนำไปกลบฝังให้ กุศลจิตที่ว่านี้คือที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ้งขึ้นในบ้านเรา

สี่ ไต้เทียนอ้วง มาจากคำ 4 คำ คำแรก สี่ ที่แปลว่า สี่ คำที่สอง ไต้ แปลว่าใหญ่ คำที่สาม เทียน แปลว่า ฟ้าหรือสวรรค์ คำสุดท้าย อ้วง แปลว่า เจ้า เอามารวม ๆ กันแล้วก็หมายถึง ท้าวจตุโลกบาล ผู้ดูแลรักษาโลกโดยประจำอยู่ทางทิศทั้งสี่ องค์ที่เห็นถือดาบอยู่คือ ท้าววิรูปักษ์ เป็นเทพแห่งลม อยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนองค์ที่เห็นถือร่มอยู่คือ ท้าววิรุฬหก เป็นเทพแห่งฝน อยู่ทางทิศใต้

องค์ ที่ถือพิณอยู่ในมือคือ ท้าวธตรัฎฐ เป็นเทพแห่งความถูกต้อง อยู่ทางทิศตะวันออก องค์สุดท้ายใบหน้าสีเขียว ๆ ถืองูอยู่ในมือคือ ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร บางแห่งก็จะให้ถือเจดีย์จีนแทนที่จะถืองู เป็นเทพแห่งความราบรื่น อยู่ทางทิศเหนือ

สาม เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว ถ้าเรียกแบบจีนกลางก็ต้องว่า  ฝู ลู่ โซ่ว รูปปั้นที่เห็นกันก็จะมีความต่างกันอยู่ตามแต่คนจะคิดปั้น ก็เลยยังสับสนกันอยู่มากระหว่างความเป็น ฮก กับ ลก ที่พอจะฟังชวนให้เชื่อมากหน่อยก็สลับกันกับที่เห็นอยู่ที่วัดนี้ คือ ฮกนั้นควรจะต้องสวมชุดขุนนาง เห็นชัดที่หมวกและเข็มขัดแบบขุนนางจีน ในมือถือคธา แล้วจะวางอยู่ตำแหน่งตรงกลาง หมายถึง อำนาจ วาสนา เกียรติยศ ส่วนลกนั้นเป็นเศรษฐี ยืนอยู่ฝั่งขวาของฮก มือหนึ่งอุ้มเด็ก มือหนึ่งถือขนม บางคนก็ว่าเป็นเห็ดหลินจือ หมายถึง โชคลาภ ความร่ำรวย เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติและบริวาร

ที่ มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวไม่ยอมไปสับสนกับใคร ก็ต้องเป็นซิ่ว ที่ไม่สวมหมวกปล่อยโล่งให้เห็นหน้าผากโหนกโต มือหนึ่งถือลูกท้อ อีกมือหนึ่งถือไม้เท้า หมายถึง อายุยืนยาว ซึ่งซิ่วจะยืนอยู่ฝั่งซ้ายของฮก แบบนี้ถ้าจะเรียกเรียงตามลำดับที่ยืนอยู่ก็ต้องว่า ลก ฮก ซิ่ว

ที่ เห็นท่าทางเป็นเด็กซน ๆ นั่นคือ เทพนาจา เป็นผู้บัญชาการกองทัพสวรรค์ ส่วนที่ตัวใหญ่ ๆ หนวดเคราดำยาว ในมือถือเจดีย์ทอง นั่นคือ เทพเจดีย์ทอง หรือ เถาะถะเทียนอ้วง เป็นเทพที่เป็นพ่อลูกกันสมัยที่เป็นมนุษย์ แล้วไม่ค่อยถูกกัน บางคนก็เลยเชื่อว่าไม่น่าจะเอามาวางตั้งบูชาไว้คู่กัน

รวบ เอาทั้ง 8 เซียนมาไว้ในภาพเดียวเลยก็เแล้วกัน ขืนบรรยายไล่ไปทีละเซียนเรื่องก็จะยืดยาวไปกันใหญ่ เซียน 8 องค์ หรือโป้ยเซียนนี้เป็นเซียนที่คนรู้จักกันมากหน่อย ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมเซียนกลุ่มนี้ถึงต้องมีกันอยู่แค่ 8 องค์ แล้วชื่อเสียงก็ดังกว่าเซียนอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่อีกมาก อาจจะเป็นแบบเซียนเหนือเซียนหรือเปล่า แต่อยู่ ๆ ทำไมถึงกลายมาเป็นชื่อของต้นไม้ไปได้ การตั้งลำดับเซียนที่วัดม่วงนี้ เริ่มต้นจาก ฮั่นจงหลี่ – ทิก๋วยลี้ – ลื่อท่งปิง – หันเซียงจื่อ – เจียงกั๋วเหล่า – เชาก๊กกู๋ – ฮ่อเซียนโกว – หลันไฉ่เหอ

ตำรา โหราศาสตร์จีนบางตำราก็มีการใช้เซียนทั้ง 8 นี้ แทนปีเกิดของคน เริ่มจาก ปีชวด ทิก๋วยลี้ – ปีฉลู ฮั่นจงหลี่ – ปีขาล ลื่อท่งปิง – ปีเถาะ เจียงกั๋วเหล่า – ปีมะโรง หลันไฉ่เหอ – ปีมะเส็ง ฮ่อเซียนโกว – ปีมะเมีย หันเซียงจื่อ – ปีมะแม เชาก๊กกู๋ ส่วนที่ขาดไปอีก 4 ปี นึกไปนึกมาก็ไปคว้าเอาเทพในเรื่องไซอิ๋วมาเติม ปีวอก  พระถังซำจั๋ง – ปีระกา เห้งเจีย – ปีจอ โป้ยก่าย – ปีกุน ซัวเจ๋ง ทั้ง ๆ ที่ความจริงเห้งเจียน่าจะตรงกับปีวอก แล้วโป้ยก่ายก็น่าจะตรงกับปีกุนมากกว่า

นั่ง เรียงกันอยู่เป็นแถว จากด้านซ้ายของคนอ่านไปทางขวาตามลำดับ เริ่มจากขงจื๊อ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยที่ใกล้เคียงกันกับพระพุทธเจ้า แต่อยู่คนจะดินแดนที่ต่างวัฒนธรรมกัน ถัดมาที่อยู่ตรงกลางคือ เจ้าพ่อเขาใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าพ่อเขาใหญ่แบบที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพนับถือเป็น อย่างมาก และเป็นคนละเจ้ากับเจ้าพ่อเขาใหญ่ที่อยู่ที่เขาใหญ่ เพราะที่นั่นมีคนเล่าว่าเดิมทีเมื่อ 70 กว่าปีก่อน เรียกว่าศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง (จ่าง นิสัยสัตย์) สุดท้ายที่เห็นเป็นองค์สีทองคือเจ้าพ่อเสือ หรือ เทพเฮียงบู๊ เทพประจำทิศเหนือ

ยืน อยู่ทางด้านซ้ายมือของคนอ่านบอกชื่อไว้ว่าเป็น เตียวหุย หนึ่งในตัวละครจากเรื่องสามก๊ก น้องร่วมสาบานคนสุดท้องของเล่าปี่ และกวนอู ที่ข้างนอกอาจจะดูหยาบกระด้าง เซ่อ ๆ ซื่อ ๆ แต่ก็เต็มไปดวยคุณธรรมความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา คนที่ทำอาชีพฆ่าสัตว์ก็เลยจะยกให้เป็นเทพประจำโรงฆ่าสัตว์ ส่วนที่ยืนอยู่ทางขวามือคือ เทพกวนอู หรือ กวนกง ส่วนใหญ่คนมักจะไปขอพรในเรื่องของการแคล้วคลาดจากภยันตราย ขอให้บริวารที่อยู่รอบตัวไม่คิดร้าย และขอให้แก้ไขผ่านปัญหาอุปสรรคได้จนสำเร็จลุล่วง

ที่ ยืนอยู่ใกล้ ๆ กับเทพกวนอู เห็นเขียนชื่อไว้ให้ว่า จิวชัง ต้องไล่นึกอยู่นานจึงพอจะเดาเอาว่าน่าจะเป็น จิวฉ่อง ที่ในเรื่องสามก๊กเคยเป็นโจรโพกผ้าเหลืองมาก่อน ตอนหลังมาอยู่กับกวนอู พอกวนอูตายก็ฆ่าตัวตายตาม ซึ่งก็มักจะได้เห็นรูปปั้นหล่อหรือภาพวาดของสามเทพนี้อยู่ด้วยกันบ่อย ๆ  แต่รูปก่อนหน้าที่เห็นไว้หนวดเคราสวมเสื้อแดงเขียนชื่อไว้ว่าเป็นเตียวหุย นั้น อาจจะคลาดเคลื่อนไป เพราะดูแล้วน่าจะเป็นจิวฉ่อง นายทหารคนสนิทมือขวาของกวนอู ที่มีพละกำลังมหาศาลพอที่จะถือของ้าวของกวนอูได้ ส่วนคนนี้ก็น่าจะเป็น กวนเป๋ง ลูกบุญธรรมของกวนอูที่ถือว่าเป็นนายทหารคนสนิทมือซ้ายของกวนอู ในมือจะถือตราประทับขององค์เทพกวนอู รักษาไว้ไม่ให้ตกลงพื้นได้

ไป ไหนมาไหนมักจะได้เจออยู่บ่อย ๆ อาแป๊ะแก่ ๆ ที่เห็นนั่งตกปลา คือเทพ เกียงไท้กง บ้างก็เรียก เจียงจื่อหยา เห็นตกปลาอย่างนั้นไม่เคยต้องใช้เหยื่อ แค่ร้องว่าเมื่อไรปลาจะมากินเบ็ดเสียที เดี๋ยวก็มีปลามาติดเบ็ด เชื่อกันว่าพวกภูติผีปีศาจนั้นกลัวเกียงไท้กง แค่เขียนชื่อใส่กระดาษก็ใช้เป็นยันต์กันผีได้ เกียงไท้กงเมื่อขึ้นไปอยู่บนสวรรค์มีหน้าที่ทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้าย เทพเสนอต่อเง็กเซียนฮ่องเต้

ที่ นั่งอยู่บนหลังควายเป็น เทพไท้เซี่ยงเหล่ากุง หรือปรมาจารย์หลี่เหล่ากุง ถ้ายังนึกไม่ออกก็ให้นึกถึง เล่าจื๊อ เจ้าแห่งลัทธิเต๋า นั่นเอง มีอายุอยู่เมื่อเกือบ 2,600 ปีก่อนนั้น ก็น่าจะเป็นยุคสมัยใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ท่านขี่ควายออกจากเมืองแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ตอนที่ผ่านด่านก่อนออกจากเมือง เจ้าเมืองหน้าด่านขอให้แวะพักเขียนหนังสือให้สักเล่มก่อน ท่านก็ยอมเขียนให้ซึ่งก็คือคัมภีร์เต๋านั่นเอง

ส่วน ที่ยืนถือพัดอยู่นั้นก็คือ พระอรหันต์จี้กง เจ้าของฉายา พระเพี้ยน สิ่งที่ท่านกระทำได้สอนให้คนเราได้มีดวงตาที่เห็นธรรม รู้จักว่าอะไรคือเปลือกนอก อะไรคือแก่นใน รู้จักที่จะแยกแยะได้ระหว่างสิ่งที่เห็น กับสิ่งที่เป็น

สิบ แปดอรหันต์ หรือจับโป้ยหล่อหั่ง เป็นพระอรหันต์ในศาสนาพุทธที่สำคัญ 18 รูป ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เคยเขียนถึงไว้อยู่ในหลาย ๆ เรื่องที่เคยโพสต์ไปแล้ว ก็เลยขอเว้นวรรคข้ามไปเพื่อไม่ให้ยืดยาวเกินไปนัก

พระ สังกัจจายน์ หรือเรียกแบบจีนก็ว่า หมีเล่อฝอ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านคือพระศรีอารยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ว่ากันว่าแต่ก่อนท่านก็มีรูปร่างที่งดงามได้ส่วน สร้างความปั่นป่วนในจิตใจของสาว ๆ ที่ได้เจอะเจอ ท่านก็เลยเนรมิตรูปกายใหม่ทำให้ดูอ้วน พุงพลุ้ย เพื่อจิตใจจะได้สงบ กลายเป็นสัญญลักษณ์ของโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ 5 ประการ ที่เรียกเป็นคำจีนกันว่า อู่ฝู ได้แก่ อายุยืนยาว ร่ำรวยมั่งคั่ง ร่างกายแข็งแรง ชื่อเสียงโด่งดัง และการตายอย่างสุขสงบ ไม่ต้องทรมาน คำว่า อู่ฝู ถ้าจะเรียกให้เป็นแบบไทย ๆ ว่า อู้ฟู่ ก็น่าจะไปด้วยกันได้

ทาง วัดอุตส่าห์ทำช่องสะดือของท่านไว้ให้อย่างใหญ่เบ้อเริ่ม สำหรับคนที่ชอบโยนเหรียญทำบุญ ยังมีคนคิดแปลก พยายามที่จะโยนเหรียญใส่ปากท่านแทน จนทางวัดต้องเขียนข้อความห้ามไว้

พระ สีวลีเถระ ซึ่งท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านผู้ที่มีลาภ สักการะมาก คนก็เลยมักจะไปไหว้ขอโชคลาภจากท่าน หรือมีท่านไว้บูชาที่บ้าน

หมอ ชีวกโกมารภัชช์ซึ่งได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านผู้ ที่เป็นที่รักของประชาชน ในวงการแพทย์แผนโบราณยกให้ท่านเป็นบรมครู พระเจ้าพิมพิสารตั้งให้ท่านเป็นหมอหลวงจากผลงานที่ได้รักษาโรคริดสีดวงทวาร ให้

เปลี่ยน แนวไปทางฮินดูบ้าง จากป้ายชื่อบอกว่าเป็นพระกฤษณะเทพ แต่ดูจากลักษณะโดยรวมแล้วน่าจะเป็นพระวิษณุ หรือพระนารายณ์มากกว่า เพราะพระกฤษณะนั้นเป็นเทพแห่งความรัก และการร้องรำทำเพลง บ้างก็ว่าเป็นปางอวตารของพระนารายณ์ปางที่ 8 ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นภาพที่ถือขลุ่ย

20 ต.ค. 53 เวลา 02:54 6,241 9 88
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...