ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

 

 

ช่อฟ้า คือ ส่วนที่อยู่บริเวณยอดสุดของหน้าบันทั้งสองด้านของอาคารในงานสถาปัตยกรรมไทย โดยมีรูปลักษณะคล้ายสัตว์ปีกจำพวกนก ครุฑ คือมีจะงอยปากตรงส่วนกลาง ส่วนปลายทำเป็นรูปเรียวโค้งปลายสะบัด โดยมากจะเป็นรูปร่างที่ตัดทอนความสมจริงออกแล้ว คงไว้ซึ่งเค้าโครงรูปนกเท่านั้น

 

ใบระกา คือ ส่วนที่มีรูปทรงเป็นครีบที่มีลักษณะเรียว โค้ง และปลายแหลมคล้ายปลายมีด กลางครีบด้านหน้าถากเป็นสันนูน วางเรียงประดับตกแต่งอยู่ระหว่างช่อฟ้า และหางหงส์บนขอบสันบ่าด้านบนตลอดแนวของตัวลำยอง ในส่วนของใบระกานี้พบว่า บางแห่งใช้กระหนกรูปทรงต่างๆ แทนครีบปลายแหลม


หางหงส์ คือ ส่วนประดับรูปทรงคล้ายหงส์ติดอยู่ปลายด้านล่างของเครื่องลำยอง โดยมากมักทำเป็นรูปโครงของนาคสามเศียรซ้อนกัน แต่ยังพบว่าหางหงส์ของเครื่องลำยองบางชุด ปรากฏการนำนาคมาประกอบโดยทำเป็นเศียรนาคหนึ่งเศียรก็มี

ตัวลำยอง คือ ส่วนขององค์ประกอบสำคัญของเครื่องลำยอง เป็นส่วนที่ใช้ยึด ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยพาดอยู่บนหลัง "แป" ทำหน้าที่ปิดเครื่องมุงหลังคาด้านสกัด ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้ตัวลำยองนี้คล้ายลำตัวของนาคที่เลื้อยรอบกรอบ ของหน้าบันซึ่งมีหัวอยู่ที่ส่วนที่เรียกว่าหางหงส์

ทวย คือ ไม้ค้ำรอบรับปีกนกของหลังคา มีทั้งชนิดโค้งเป็นหัวพญานาค ปลายเป็นกระหนกม้วนและชนิดตรงประดับลาย 

บราลี คือ วัตถุที่ทำเป็นรูปหัวเม็ด กลึงเป็นลูกแก้ว ซ้อนเป็นชั้นๆ มีด้ามปีกเป็นระยะ ที่สันหลังคา 

ย่อมุมไม้สิบสอง เป็นคำอธิบายลักษณะส่วนมุมของอาคาร เจดีย์ พระเมรุหรือสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้มุมมีหยักเป็นเหลี่ยมออกมา แทนที่ตรงมุมจะมีเพียงมุมเดียว กลับทำหักย่อลงทำให้เป็น 3 มุม เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่สิ่งก่อสร้างนั้น

การย่อมุมทำให้มุมหนึ่งเกิดเป็น 3 มุม อาคาร เจดีย์ หรือพระเมรุ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างทรงสี่เหลี่ยมมี 4 มุม จึงกลายเป็น 12 มุม อาคาร เจดีย์ หรือสิ่งก่อสร้างใดมีลักษณะดังกล่าวนี้จึงเรียกว่า ย่อมุมไม้สิบสอง เช่น พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระเมรุทรงปราสาทจตุรมุขย่อมุมไม้สิบสองหมายถึงการมีมุมด้านละสามมุม ดังนั้นถ้าเป็นทรงสี่เหลี่ยมก็จะมีสิบสองมุม 

ซุ้มเรือนแก้ว คือ ซุ้มที่มีกรอบเป็นลวดลาย จะเป็นลายกระจัง หรือลายดอกไม้ก็ได้ ตัวอย่าง ได้แก่ ซุ้มเรือนแก้วพระพุทธชินราช 

ฐานชุกชี แต่เดิมหมายถึงวัชรอาสน์ คำว่าชุกชี เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ที่นั่ง ดังนั้นเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูป จึงตั้งอยู่บนฐานชุกชี

 

18 ก.ค. 53 เวลา 11:12 84,412 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...