สรุปแล้ว ผลตรวจกระทะโคเรียคิง ไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบตามที่โฆษณา

 

สรุปผลตรวจกระทะ Korea King ไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะ จ่อเรียกบริษัทผู้นำเข้าชี้แจง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิง มีสิทธิ์ขอเงินคืน

ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมต่างให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับกรณีของกระทะยี่ห้อดังที่มีราคาขายใบละ 3,000 บาท แถมอีก 1 ใบฟรี ซึ่งต่อมาก็มีข่าวว่า มีคนไปเจอที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีราคาขายใบละไม่ถึง 600 บาท ก่อนที่ทาง โคเรียคิง ประเทศไทย จะออกมาบอกว่า เป็นรุ่นคนละเกรดกับที่ขายในไทย และหยุดจำหน่ายรุ่นดังกล่าวมากว่า 1 ปีแล้ว แต่ทว่าข้อสงสัยก็ยังไม่หมดไป เพราะราคาขายอยู่ที่หลักหมื่น แถมลดราคาเหลือ 3,000 บาท อีกทั้งยัง 1 แถม 1 อีกต่างหาก หลายคนจึงอยากรู้ว่าแพงเพราะอะไร

 

โดย รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกระทะโคเรียคิง รุ่นเพชร มาหั่นทดสอบว่าเจ้ากระทะใบดังกล่าวเคลือบอะไรบ้าง โดยเริ่มจากขั้นตอนการหั่น ซึ่งหลายคนก็ใจจดใจจ่อรอดูผลการทดลอง (อ่านข่าว : เดี๋ยวรู้เลย อาจารย์ ม.เกษตรฯ ชำแหละกระทะดัง ไขข้อสงสัย มีส่วนประกอบอะไรบ้าง)

และล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 รศ. ดร.วีรชัย ได้ส่งผลตรวจสอบให้ สคบ. แล้ว โดยระบุว่า

1. เนื้อกระทะทำมาจากอะลูมิเนียมเสริมเหล็ก

2. เนื้อกระทะเคลือบด้วยโพลิเมอร์

3. ตรวจสอบดูชั้นเคลือบของกระทะ พบว่าไม่ได้มี 8 ชั้น แต่ยังไม่ระบุว่ามีมากกว่าหรือน้อยกว่า 8 ชั้น และไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะ

หลังจากนี้ สคบ. จะรอผลตรวจสอบของเอ็มเทคที่ตรวจสอบเรื่องมาตรฐานความร้อนของกระทะว่ารองรับอุณหภูมิถึง 400 องศาเซลเซียสหรือไม่ รวมถึงความคงทนของวัสดุ และผลตรวจของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่ตรวจสอบเรื่องความเป็นพิษและสารปนเปื้อน หากได้ผลตรวจครบทั้ง 3 หน่วยงาน จะชี้แจงอีกครั้ง

ขณะที่ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำในโฆษณาดังกล่าวเป็นคำที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าตัวกระทะนั้นทำมาจากหินอ่อน แล้วยังบอกถึงสรรพคุณว่าใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วยหินอ่อนเงิน หินอ่อนทอง พร้อมด้วยเทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย ซึ่งจริง ๆ แล้วจากการที่ได้นำไปตรวจสอบดูชั้นการเคลือบของกระทะดังกล่าว พบว่าไม่ใช่กระทะหินอ่อนตามที่โฆษณา เป็นเพียงอะลูมิเนียมอัลลอย หรืออะลูมิเนียมบวกกับเหล็ก เคลือบเอาไว้กับตัวกระทะเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างกับกระทะที่เคลือบเทฟลอนตัวอื่น ๆ ที่ทำให้อาหารไม่ติดกระทะ ส่วนวิธีการเคลือบก็จะเคลือบหลายชั้น และตัวที่ใช้เคลือบก็จะทำเป็นลวดลายให้คล้ายกับหินอ่อนเท่านั้น

 

 ทั้งนี้ทาง สคบ. ได้ยื่นจดหมายเชิญบริษัทผู้นำเข้ากระทะโคเรียคิง เข้ามาชี้แจง ใน 3 ประเด็น คือ

1. การกำหนดราคา

2. คุณภาพของสินค้าที่ระบุในการโฆษณา

3. การลด แลก แจก แถม เพื่อพิจารณาว่าการโฆษณาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของสินค้าหรือไม่

ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่าผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิง มีสิทธิ์ขอเงินคืน หรืออาจจะเป็นทาง สคบ. เองที่จะต้องยื่นมือเข้าไปเจรจาเพื่อให้บริษัทคืนเงินผู้บริโภค หรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค

ขณะที่ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.10 น. ตัวแทนบริษัทที่จำหน่ายกระทะโคเรียคิง พร้อมทนายความ ได้เผยหลังจากเข้าชี้แจงต่อ สคบ. ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป ขอให้สื่อหยุดวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อน ทั้งนี้ต้องรักษาประโยชน์ของลูกค้าอยู่แล้ว ยืนยันว่ากระทะผลิตที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนดำเนินการที่จะฟ้องร้องนักวิชาการบางท่านที่ออกมาบอกว่า กระทะนั้นผลิตในไทย ก่อนทิ้งท้ายว่า ถ้าทุกหน่วยงานบอกว่าไม่ได้คุณภาพ ก็ต้องทวงความเป็นธรรมให้กับลูกค้าคนไทย

ภาพจาก ไทยพีบีเอส

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 

** หมายเหตุอัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 15.53 น. ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2560

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...