“PANTU” เทศกาลสุดแปลกที่พบได้บนเกาะมิยาโกะ โอกินาว่าเท่านั้น

Home

ท่องเที่ยว47.โอกินาวะ (沖縄)

 

ที่เกาะมิยาโกะ จังหวัดโอกินาว่า มีเทศกาลทางศาสนาชินโตที่มีมาแต่โบราณอยู่ค่ะ ซึ่งเทศกาลนี้แปลกและน่าขนลุกไม่น้อยเลยทีเดียว เรามาทำความรู้จักกับเทศกาล PANTU กันค่ะ

PANTU คือชื่อเรียกของเทพเจ้าที่เกิดจากบ่อโคลนตม ทั่วทั้งร่างปกคลุมไปด้วยโคลนสีดำ โดยเทพเจ้า PANTU จะเอาโคลนไปป้ายตามตัวผู้คนเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้ายออกไป

 

เทพเจ้า PANTU มีทั้งหมด 3 องค์ด้วยกัน ทั้งสามจะสวมหน้ากากแปลก ๆ ลำตัวห่อหุ้มด้วยพืชชนิดหนึ่ง และมีโคลนทั่วตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่สำคัญคือมีกลิ่นรุนแรงมาก!

เพราะอะไรเทพเจ้า PANTU ถึงเปรอะไปด้วยโคลนดำทั่วทั้งตัวอย่างงั้น? แล้วทำไมต้องใส่หน้ากากที่ดูน่ากลัวขนาดนี้? นี่มันคือเทศกาลแบบไหนกันแน่!?

 

จะอธิบายให้ฟังค่ะ

นานมาแล้ว มีหน้ากากที่ถูกห่อหุ้มด้วยใบคุบะพัดขึ้นมาเกยชายฝั่งคุบามะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชิมาจิริ หน้ากากนี้ถูกเรียกว่า “Oya (พ่อแม่) PANTU” แล้วก็มี “Naka (กลาง) PANTU” “Ko (เด็ก) PANTU” รวมเป็นหน้ากาก 3 อัน

ทางใต้สุดของชุมชนมีบ่อน้ำแร่ที่เรียกว่า “อุบุอิ” เป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ทำพิธีให้แก่เด็กแรกเกิดและใช้ในการชำระล้างศพให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะไปเกิดใหม่ ทุก ๆ ปี PANTU จะเกิดจากบ่อนี้ แต่ในวันพิธีกรรมน้ำในบ่อจะกลายเป็นโคลน และนี่ก็คือต้นกำเนิดของเทพเจ้า 3 องค์จากผืนดินเป็นร่างที่มีเนื้อหนังนั่นเอง

 

คำว่า PANTU มีความหมายว่า “ยักษ์” จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีรูปร่างหน้าตาน่ากลัวแบบนี้ค่ะ ดังนั้นเมื่อ PANTU ปรากฏตัวในชุมชน ผู้คนก็วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น แต่ว่าไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูน่าหวั่นเกรงเท่านั้น PANTU ยังวิ่งได้เร็วมากอีกด้วย ดังนั้นการวิ่งหนีจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย! เรียกว่าเป็นเกมวิ่งไล่จับแบบศาสนาชินโตก็ได้ค่ะ

พิธีกรรมนี้เป็นของศาสนาชินโต มีชื่อเรียกทางการว่า Pantu Punaha โดยคนที่วิ่งหนี PANTU ไม่ทันจะถูกละเลงด้วยโคลนทั่วตัว แต่ว่านั่นก็คือขั้นตอนในการไล่ภูติผีปีศาจนั่นเอง ซึ่งพิธีกรรมนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นสมบัติของชาติญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1982 ค่ะ

 

ผู้ที่มาร่วมเทศกาลส่วนใหญ่จะพาเด็ก ๆ มาด้วย เมื่อ PANTU สุดน่ากลัวเข้ามาใกล้ เด็ก ๆ ก็วิ่งหนีและร้องไห้กันใหญ่เลย

เราจึงได้ลองถามบรรดาพ่อแม่ว่าทำไมถึงพาลูก ๆ มาทั้งที่รู้ว่าเด็ก ๆ จะตกใจกลัวและร้องไห้แบบนี้ คำตอบที่ได้ก็คือ…

 

“ให้ลูกมาเข้าร่วมเพื่อเป็นการขอพรให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงสุขภาพดี” บ้างก็ว่า “ช่วงนี้ลูกไม่ฟังที่เราพูด ก็เลยขู่ว่าถ้าไม่ยอมเชื่อฟังเดี๋ยว PANTU จะมาหานะ” หรือเพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนลูก เป็นต้น

เท่ากับว่าพิธีกรรมในเทศกาลนี้กลายเป็นธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเพื่อให้ผู้คนยำเกรงต่อเทพเจ้า และเพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนลูกหลานด้วยนั่นเองค่ะ

 

นอกจากนี้สำหรับคู่สามีภรรยาก็มีการขอพรให้มีบุตรที่สุขภาพแข็งแรงด้วย โดยคุณแม่จะถูกจับที่ท้องเพื่อเป็นการอวยพรให้คลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย

 

เทศกาล PANTU จะจัดขึ้นในเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าได้ไปเที่ยวเกาะมิยาโกะในช่วงที่มีเทศกาลพอดีก็ถือว่าโชคดีมาก ๆ เลยล่ะค่ะ!

ตอนที่ PANTU มาถูกตัวเรา เสื้อผ้าหรือกล้องถ่ายรูปอาจจะเลอะเปรอะเปื้อนไปบ้าง ดังนั้นขอให้เตรียมเสื้อผ้าพร้อมเลอะใส่ไปร่วมงานเพื่อให้ PANTU ช่วยปัดเป่าโชคร้ายให้เราค่ะ ถือว่าเป็นการขอบคุณ PANTU ที่ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ผู้คนมาตั้งแต่อดีตนะคะ

PANTU เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวเกาะมิยาโกะ ดังนั้นเราจึงควรให้ความเคารพและเข้าร่วมเทศกาลพร้อมด้วยความเข้าใจในที่มาที่ไปและจุดประสงค์ของเทศกาลนี้ค่ะ

ที่มา: okinawaclip

ขอบคุณที่มา:http://anngle.org/th/j-journer/okinawa-ken/miyakojima-pantu.html

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...