The Hunting Ground : เมื่อมหาลัยซุกการข่มขืนไว้ใต้พรม

https://www.yaklai.com/lifestyle/special-article/review-the-hunting-ground/

The Hunting Ground : เมื่อมหาลัยซุกการข่มขืนไว้ใต้พรม

 

 

“20% ของนักศึกษาหญิงในสหรัฐอเมริกา เคยถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัย” สถิติอันนี้สร้างความสะพรึงให้ทุกคนที่ได้อ่านและคิดเป็นห่วงคนรอบข้างและคนในครอบครัวของเราทันที และตอกย้ำว่าโลกใบนี้อยู่ยากจริงๆ อเมริกายังขนาดนี้ ถ้าเป็นบ้านเราจะขนาดไหนกันนะ

ความรู้สึกนี้แหละคือสิ่งที่เราได้รู้สึกตลอด 90 กว่านาที ที่ดูหนังเรื่อง The Hunting Ground ที่พูดถึงปัญหาใต้พรมวงการศึกษาทั่วประเทศอเมริกา รวมทั้งมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกที่แม้แต่แม่ค้าขายชานมไข่มุกที่เราเป็นลูกค้าประจำก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ทั้ง Harvard, Berkeley และที่ถูกเอยชื่ออีกกว่า 50 กว่ามหาลัย ที่ทำเหมือนกับว่าปัญหานักศึกษาโดนข่มขืนไม่มีอยู่จริง

 

แม้หนังเรื่องนี้จะมีลีลาค่อนไปทางสารคดีฉายทางทีวี คือสัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมา ทั้งเหยื่อ(มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง) และนักวิชาการ เสริมด้วยฟุตเทจข่าว และให้สถิติที่น่าขนลุกเป็นระยะ ๆ จำพวก “นักศึกษาชายไม่ถึง 8% เป็นผู้ก่อคดีข่มขืนกว่า 90% และกระทำโดยเฉลี่ย 6 ครั้งตลอดช่วงที่เป็นนักศึกษา” ชุดข้อมูลพวกนี้แหละที่ทำให้เราทั้งสะเทือนใจและโกรธไปพร้อม ๆ กับเหยื่อทุกคน ที่โดนสถาบันของตัวเองเพิกเฉยด้วยเหตุผลสุดคลาสสิคนั่นก็คือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (ถึงผู้เขียนจะใช้คำว่า “เหยื่อ” แต่ในสารคดีผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่า “survivor” เพราะพวกเขาผ่านพ้นและลุกขึ้นสู้)

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ปีล่าสุด Spotlight ที่เล่าเรื่องนักข่าวที่สู้กับการปกปิดที่ใช้อำนาจและเงินสร้างอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อให้แน่ใจว่าเหยื่อจะไม่มีปากไม่มีเสียงต่อไป องค์กรศาสนาในเรื่องนั้นก็เหมือนกับเหล่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้ “ข่มขืนก็เหมือนกับฟุตบอลนั้นแหละ” เหยื่อคนหนึ่งร้องเรียนว่าเธอถูกเพื่อนข่นขืนต่ออธิการบดี แต่กลับได้คำถามกลับมา “ถ้าย้อนกลับไปได้ เธอจะทำอะไรได้บ้าง” “แต่งตัวโป๊หรือเปล่า?” “วันนั้นเธอเมาหรือเปล่า?” “อ่อยเขาก่อนหรือเปล่า” “บอกเขาว่าอย่าทำหรือเปล่า?” “พูดว่าอย่าไปกี่ครั้งกัน?” เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นธุรกิจ การรักษาภาพลักษณ์ก็ต้องตามมา เพื่อรักษายอดขายและยอดบริจาคจากศิษย์เก่า แม้แต่ปกป้องคนลงมือเพราะเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยที่จะมีค่าตัวแพงในอนาคต การใช้ความยุติธรรมกับผู้กระทำผิดกลับเป็นความไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ และปล่อยให้คนเหล่านั้นกลับมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ หลายรายลงมือทำซ้ำอีก มหาวิทยาลัยเลยกลายเป็นสนามไว้ให้อาชญากรล่าเหยื่ออย่างสบายใจจนกว่าจะเรียนจบ

 

แต่สิ่งที่ดีที่สุดของหนังคงไม่ใช่การตีแผ่เรื่องราวของเหยื่อเท่านั้น การที่บอกให้เราลุกขึ้นสู้ต่างหากที่สำคัญที่สุด จากเหยื่อสองสามคนที่สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมและสถาบันของตัวเอง ได้มารวมตัวกันและกลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ไกล จนไปถึงหูโอบาม่าได้ในที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็คงมีแต่เหยื่อที่ทำได้แค่กลัวไปจนตาย โดยที่ไม่รู้เลยว่าพวกเขามีจำนวนมากและมีพลังขนาดไหน และพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว

 

31 พ.ค. 59 เวลา 04:56 1,226
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...