ฟินเวอร์!! วิธีสร้างบ้านให้เย็นฉ่ำตลอดเวลา ถึงแม้อากาศจะร้อนแค่ไหน ก็เอาอยู่ แจ่มสุดๆ

  หลักการง่ายๆของช่องระบายลม คือ อากาศที่ร้อนจะลอยตัวขึ้น ไหลออกทางช่องเป็นที่ออกแบบไว้ และอากาศเย็นภายนอกก็จะพัดไหลเข้ามาแทน


ปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะลดความร้อนในบ้าน สร้างภาวะอยู่สบายให้คนที่อาศัยอยู่ เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับแสงแดดอย่างใกล้ชิดเหมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน ยิ่งทำให้บิลค่าไฟในเดือนเมษาทำยอดสูงทะลุเพดาน สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและเงินในกระเป๋า จะดีกว่าไหม? ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาความร้อนในบ้านนี้ด้วยวิธีที่อนุรักษ์พลังงานประหยัดไฟฟ้า และเซฟเงินได้มากกว่า โดยการสร้างทางระบายความร้อนภายในบ้านโดยใช้ลมธรรมชาติ ผ่านช่องระบายลม

การไหลของลมตามธรรมชาติ

ความจำเป็นของช่องระบายลมอาจไม่ใช่ของที่ต้องมีในบ้านทุกหลัง แต่เราก็อยากจะแนะนำว่าถ้ามีโอกาสก็ควรจะออกแบบลงไปในอาคารเขตร้อนชื้นอย่างเราครับ การสร้างช่องระบายลมใต้หลังคาควรต้องทำตั้งแต่ขั้นตอนของการเขียนแบบบ้าน จุดประสงค์หลักของดีเทลส่วนนี้ก็คือ สร้างช่องทางระบายอุณหภูมิความร้อนที่สะสมอยู่ใต้หลังคาและมวลอากาศร้อนในบ้านที่จะลอยตัวขึ้นสูงตามธรรมชาติ เปิดพื้นที่ใต้หลังคาให้ลมธรรมชาติจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาเอาความร้อนสะสมในบ้านออกไป
 

 ควรเลือกวางตำแหน่งช่องระบายลมควรวางไว้ส่วนบนสุดของอาคาร เปิดให้มีจุดลมเข้า-ลมออกทั้ง 2 ด้านถึงกันโดยง่าย อยู่ในทิศที่ลมพัดผ่านตลอด ยื่นชายหลังคาออกไปซัก 1-1.5 เมตร สำหรับแสงแดดอย่างประเทศไทย ป้องกันฝนสาดผ่านช่องลมเข้ามาในบ้าน  ติดตะแกรงป้องกันแมลง นก หนู เข้ามาขออาศัย


Dtip: การทำช่องระบายลมใช้ได้กับทั้งหลังคาแบบปกติและหลังคาแบบ 2 ชั้น ขนาดของช่องเปิดก็มีส่วนสำคัญในการรับลมเช่นกัน ถ้าช่องที่ลมเข้ามีขนาดเล็ก ลมออกมีขนาดใหญ่ บ้านก็จะรับลมได้มาก และในทางกลับกัน หากช่องที่ลมเข้ามีขนาดใหญ่ แต่ช่องที่ลมออกมีขนาดเล็ก ลมที่พัดพาเข้าบ้านก็จะน้อยตามไปด้วย
 

 

ระบายลมแบบภูมิปัญญาไทย
 
ความจริงแล้วช่องระบายลมไม่ได้มีแค่ส่วนพื้นที่ใต้หลังคาเท่านั้นนะครับ เพราะเราสามารถเปิดช่องทางให้อากาศไหลเวียนเข้ามาตามองค์ประกอบอื่นๆในบ้านได้อย่างกลมกลืน เป็นลักษณะโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่คนไทยออกแบบผูกพันมาตั้งแต่ช้านาน เมื่อถึงยุคที่เราเปิดรับสไตล์วัฒนธรรมจากต่างแดนก็ทำให้ภูมิปัญหาเหล่านี้ถูกหลงลืมจากอาคารกันไปบ้าง งั้นเราลองกลับมาทำความรู้จักรายละเอียดการออกแบบสไตล์ไทยกันอีกซักครั้งนะครับ
 
1. ช่องระบายลมใต้หลังคา หรือ ส่วนหน้าบัน : ช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ใต้หลังคา เปิดช่องระบายให้มวลอากาศเย็นหมุนเวียนพัดพาความร้อนที่ขึ้นมาสะสมอยู่บนฝ้าภายใน ลอยตัวออกไปจากตัวบ้าน ทำให้อุณหภูมิบ้านเย็นขึ้นตาม

 


2. ช่องลมเหนือประตูและหน้าต่าง : สำหรับบ้านที่มีฝ้าเพดานสูงๆ การทำช่องลมเหนือประตูและหน้าต่างจะช่วยระบายอากาศได้แม้บานพับจะปิดอยู่ ปิดมุมมองจากหน้าต่างแต่ลมก็ยังพัดได้ ออกแบบระแนงไม้เป็นลวดลายที่งดงาม ทำให้บ้านดูโปร่ง ลมระบายได้ทั่วถึง ควรติดมุ้งลวดไว้ที่ด้านหลังระแนงช่องลมเพื่อกันยุงและแมลงบินเข้าบ้าน เป็นการออกแบบที่สร้างสวยงามและประโยชน์ใช้สอย สวยงามรวมกันไว้ได้อย่างดี
 


3. ช่องลมที่ผนัง : สำหรับพื้นที่ที่ต้องการหลบสายตา แต่ยังต้องการตัวช่วยในเรื่องการหมุนเวียนของอากาศตามมุมต่างๆในบ้าน อยากให้ลองประยุกต์ช่องลมมาใช้ที่ผนังแทนหน้าต่างเปิดบานกว้าง ช่วยให้ลมพัดไหลเวียนระหว่างห้องต่างๆได้ทั่วถึงโดยไม่ต้องเปิดเผยมุมมองภายในบ้านของตัวเอง
 


4. ลูกฟักไม้บานเกร็ด : ห้องไหนที่ไม่ต้องการเปิดรับแสงแบบเต็มๆ แต่ต้องการความเป็นส่วนตัวมาก ให้ลองใช้หน้าต่างบานเปิดแบบที่มีลูกฟักเป็นเกล็ดไม้ ที่มีช่องให้ลมไหลผ่านบานเกร็ดได้แม้จะปิดหน้าต่างไปแล้ว นอกจากนี้บานเกร็ดหน้าต่างยังมีประโยชน์ช่วยบดบังทั้งแสงแดดและน้ำฝนไม่ให้ไหลซึมเข้าบ้านโดยตรง
 


5. ฝ้าเพดานฉลุ/ระแนงไม้ : แทนที่จะใช้ฝ้าเพดานแบบปิดทึบตามปกติ ลองเปลี่ยนมาเป็นแบบลายฉลุ ลูกกรงโปร่ง การเว้นร่องให้ลมผ่านได้ อากาศร้อนจากในห้องก็จะลอยขึ้นไปใต้หลังคา โดนลมธรรมชาติจากช่องเปิดหน้าบันพัดพาออกไป บ้านของเราก็จะเย็นเร็วขึ้นอีกเท่าตัว
 


6. ช่องแมวลอด : ช่วยระบายความร้อนที่ส่งตรงมาจากพื้นดิน อาศัยช่องว่างของพื้นต่างระดับให้อากาศไหลเข้ามาหมุนเวียนอยู่ในบ้าน เรื่องที่ควรเป็นห่วง คือ การป้องกันหนู งู และสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสามารถใช้ตะแกรงลวดติดป้องกันเหมือนส่วนหน้าบัน 


จากเดิมที่เราต้องพึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วยขับไล่ความร้อนสะสมรวมกันแบบไร้ทางออกอยู่ภายในบ้าน เราสามารถสร้างช่องว่างและทางระบายอากาศ เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทิศทางลมพัดในธรรมชาติ ให้ลมช่วยพัดพาความร้อนออกไป เปิดรับลมเย็นๆจากภายนอกเข้ามาแทนที่ แค่นี้เราก็จะได้บรรยากาศบ้านเย็นสบายโดยไม่ต้องง้อเครื่องปรับอากาศตลอดเวลาแล้วละครับ

ที่มา : kaijeaw.com

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...