ประวัติศาสตร์คำว่า “กู” และสรรพนามตระกูลไท เกี่ยวอะไรกับอินโดนีเซีย ?

https://www.yaklai.com/news

ประวัติศาสตร์คำว่า “กู” และสรรพนามตระกูลไท เกี่ยวอะไรกับอินโดนีเซีย ?

ภาษาอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นภาษาเดียวกับภาษามาลายูและภาษายาวีนั้น ในปัจจุบันนักภาษาศาสตร์เขาจัดให้อยู่ในตระกูลภาษาของชาวหมู่เกาะเรียกรวมๆว่าภาษาออสโตรนีเซียน ในขณะที่จัดให้ภาษาไทยอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได หากนักวิชาการบางส่วนตั้งแต่นายพอล เบเนดิกท์ เสนอไว้สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันต่างมีความเห็นว่าภาษาสองกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กันมาแต่เก่าก่อน แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ยังหาจุดเชื่อมโยงในทางภาษาศาสตร์ไม่กระจ่างแจ้งนัก

ด้วยธรรมชาติแล้ว คำเรียกขานที่ออกจากปากของคนไทย มักจะเป็นคำโดดๆ คำไหนที่ยาวๆมักถูกควบรวมทำให้สั้นลง ไม่เว้นแม้แต่คำหยิบยืม เช่น คำว่า “เดียงสา” มาจากคำเดิมของพระเวทว่า “divasa” แปลว่าเทวดา กลางวัน สว่าง หรือรู้ก็ได้ จะเห็นว่าจากสามพยางค์ลดเหลือแค่สอง

คำว่า “นรก” มาจากคำสันสกฤตว่า “naraka” คำว่า “สวรรค์” มาจากคำว่า “swarga” จากสามหดสั้นลงเหลือสองพยางค์ คำว่า “ยักษ์” มาจากคำว่า “rakshasa” แปลว่าผู้รักษา ผู้ปกป้อง จากสามพยางค์ลงมาเหลือแค่คำโดดเท่านั้น หรืออีกคำ “ปฐม” มาจากคำว่า “prathama” จากสามก็หดเหลือสองพยางค์ เป็นต้น

ในขณะที่คำของทางอินโดนีเซียจะค่อนข้างยาวสองพยางค์ขึ้นไปเท่าที่สังเกต หาคำเดี่ยวคำโดดได้ยากกว่า คำไหนที่หยิบยืมมาจะยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ได้แม้เวลาจะผ่านไปเป็นพันปี เช่น “dewasa” เขาแปลว่าความเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือคำว่า “neraka อ่านว่า เนอ-ระ-กะ” “surga อ่านว่า ซัวร์-กะ ” “raksasa อ่านว่า รัก-ซา-ซ่า” จนถึงคำว่า “pertama อ่านว่า เปอร์-ตา-ม่า” ยังออกเสียงสำเนียงใกล้เคียงกับของต้นทางแหล่งกำเนิดทั้งสิ้น

ถ้าสังเกตในภาษาพูดพื้นฐานทั่วไประหว่างคำอินโดนีเซียกับคำไทยที่คาดว่าเป็นคำดั้งเดิมเก่าแก่ ไม่ได้หยิบยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตหรือทางไหน จะพบว่าคำในภาษาพี่น้องอินโดนีเซียหลากหลาย มีความคล้ายกับคำในภาษาไทย เป็นความคล้ายบนพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน ทั้งเรื่องของการพ้องเสียงและความหมายเบื้องหลัง เช่น คำที่เกี่ยวข้องกับตัวตน และเครือญาติคนใกล้ชิด

“aku” และ “กู”

ขึ้นต้นในคำว่า “aku อ่านว่า อา-กู” ใช้เรียกแทนอัตตาตัวตนแรกเริ่ม ซึ่งแปลว่าผม ฉัน เป็นคำที่ใช้กันในหมู่เพื่อนฝูงจนถึงคนรู้จักมักคุ้น ถือว่าค่อนข้างสุภาพ แม้จะน้อยกว่า “saya อ่านว่า ซา-ย่า” เมื่อเติมหน้าต่อหลังก็แปลงออกไปได้อีกหลายความหมาย แต่ยังวนเวียนเกี่ยวกับตัวเอง เช่น “mengakui อ่านว่า เมิง-อา-กุย” แสดงความ เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือการบ่งชี้ระบุตัวตน เป็นคำๆเดียวกับคำว่า “กู” ในภาษาไทย

 

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ปรากฏคำว่า “กู” ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1

“kamu” และ “มึง”

เมื่อพูดถึงตัวก็ต้องเอ่ยถึงคำตรงข้ามในคำว่า “kamu อ่านว่า กา-มู้” เป็นคำใช้เรียกแทนบุคคลที่สอง แบบเป็นกันเองเฮฮาในเพื่อนฝูงทั่วไป หากคำสุภาพเขาจะใช้คำว่า “anda อ่านว่า อัน-ด้า” แปลว่าคุณหรือเธอ

เป็นคำเดียวกับคำว่า “มึง” ที่ถูกลดรูปตามการพูดของคนถิ่นเหนือ

 

บรรทัดแรกของจารึกแผ่นดีบุก ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา พบที่วัดมหาธาตุ มีข้อความว่า “ด้วยกุศลผลกูข้าหล่อพระพุทธพิมพ์ถ้วนวันเกิด” (ขอบคุณภาพสำเนาจารึกจาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์

10 ก.พ. 59 เวลา 04:39 2,009 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...