"โสเภณี"อาชีพถูกกฎหมายในอดีตของเมืองไทย แต่กว่าจะขายบริการได้ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง...?

อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเริ่มมีการจดทะเบียนหญิงโสเภณีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เพื่อหารายได้เข้ารัฐด้วยการเรียกเก็บ "ภาษีบำรุงถนน" แล้วนำเงินไปสร้างถนนตัดใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันโรคติดต่ออย่าง "กามโรค" หรือ "โรคบุรุษ" อีกด้วยเพราะในสมัยก่อนมีชายไทยจำนวนมากติดโรคมาจากหญิงโสเภณี

โดยอัตราค่าจดทะเบียนหญิงโสเภณีในราคา 12 บาท จะมีกำหนดเวลาเพียง 3 เดือน ส่วนใบอนุญาตสถานให้บริการหญิงโสเภณีนั้นจะมีราคา 30 บาท กำหนดระยะเวลา 3 เดือนเช่นกัน

ในสมัยนั้นค่าขึ้นห้องของหญิงโสเภณีมีราคาเพียง 2 สลึง - 1 บาทเท่านั้น แต่ถ้าเป็นฝรั่งก็จะมีราคา 2 บาท และถ้าเหมาทั้งคืนก็จะอีกราคาหนึ่งคือ 4 บาท นับว่ามีราคาสูงเหมือนกันเพราะในสมัยนั้นข้าวสารราคาถังละ 2 สลึง - 1 บาทเท่านั้น

ทั้งยังมีรายงานของพระยาพิเรนทราธิบดีสีหราชงำเมือง ผู้บัญชาการพลตระเวนแขวงพระนคร ที่รายงานสถานการณ์และเหตุการณ์เกี่ยวกับโสเภณีในช่วงนั้นต่ออธิบดีกรมพลตระเวน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2458 ว่า

"โรงหญิงสัญจรโรคที่รับอนุญาตตั้งโรง บางแห่งเปิดโรงรับผู้มาเที่ยวไปมาอยู่จวนสว่าง แต่โรงหญิงญี่ปุ่น 2 ยามล่วงแล้วปิด ในพระราชบัญญัติสัญจรโรคไม่ห้ามการเปิดปิด ควรมีกำหนดปิดโรงจะเป็นเวลาใดก็ตามแต่สมควร ทั้งยังมีผู้หลีกเลี่ยงกฎหมายไม่มีใบอนุญาตเวลานี้ออกจะชุกชุม กองตระเวนได้ตรวจจับกุม บางเรื่องมีหลักฐานพอก็ส่งศาลฟ้อง บางเรื่องจะฟ้องไม่ถนัดโดยหลักหลักฐานไม่เพียงพอ จำต้องถอนฟ้อง เรื่องนี้กฎหมายยังไม่มีบังคับสำหรับคนจำพวกนี้ และเป็นพวกที่น่ามีเหตุเกิดขึ้น ครั้งหนึ่งชาวเยอรมันได้ไปเที่ยว มีเหตุกับเจ้าของที่พัก กองตระเวนจับกุม ลงท้ายพลตระเวนกับชาวเยอรมันต้องเปนความกัน หญิงโสเภณีกับหญิงสัญจรโรคที่ไม่มีใบอนุญาต เวลากลางคืนเที่ยวออกชักชวนชายในที่ประชุมชนต่างๆ เที่ยวเกลื่อนกลาดตามถนน แลปะปนกระทำให้หญิงผู้ดีรับความเสื่อมทรามไปด้วย ควรมีบังคับห้ามหญิงโสเภณีที่มีใบอนุญาต ต้องประจำหาผลประโยชน์อยู่ที่พักของเขา จะเที่ยวเตร็ดเตร่ชักชวนชายตามถนนหรือที่ประชุมชนไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้รับรายงานร้องขอรวมโรงหญิงโสเภณีอยู่ในหมู่หรือตำบลเดียวกัน เพื่อสดวกสำหรับจัดการรักษา ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ การที่ให้ผู้หญิงแยกย้ายตั้งอยู่ที่ต่างๆเช่นนี้ กองตระเวนไม่พอเพียงจะรักษาให้ทั่วถึง ในหญิงนครโสเภณีกวางตุ้ง เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น สืบสวนไม่ใคร่จะได้ความ โดยปกปิดไม่บอกความจริง ถ้ามีโอกาสควรรวบรวมหญิงโสเภณีกวางตุ้งเสียคราวหนึ่งก่อน ถ้ารวบรวมไม่ได้ จำเปนต้องเพิ่มจำนวนพลตระเวนให้พอเพียงกับการรักษา"

และหลังจากที่เริ่มมีกฎหมายจดทะเบียนหญิงโสเภณีตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๖๗ ปรากฎว่ามีสถานที่ให้บริการโสเภณีและหญิงโสเภณีที่ได้รับอนุญาตเป็น

เจ้าของโรงจีน 189 โรง หญิงโสเภณี 772 คน
เจ้าของโรงไทย 12 โรง หญิงโสเภณี 72 คน
เจ้าของโรงญวน 7 โรง หญิงโสเภณี 8 คน
เจ้าของโรงรัสเซีย 1 โรง หญิงโสเภณี 3 คน
รวมทั้งหมดมีเจ้าของโรง 204 โรง และหญิงโสเภณี 855 คน

นอกจากนี้ยังพบว่ามีหญิงโสเภณีที่ไม่ได้จดทะเบียนและลักลอบหากินอยู่อีกด้วย โดยมี

จีน ประมาณ 200 คน
ไทย ประมาณ 150 คน
ญวน ประมาณ 15 คน
ญี่ปุ่น ประมาณ 5 คน
รัสเซีย ประมาณ 10
รวมทั้งหมด 380 คน

ซึ่งหลังจากที่มีการจดทะเบียนหญิงโสเภณีก็ทำให้ทราบว่า มี "หญิงจีนกวางตุ้ง" จำนวนมากเข้ามาเป็นโสเภณีในเมืองไทยมากกว่าหญิงทุกชาติ และมากกว่าหญิงไทยเองเสียด้วยซ้ำ โดยหญิงเหล่านี้เข้ามาในเมืองไทยทางเรือ

ดังนั้นจึงมีการจัดตำรวจให้ไปตรวจเรือการค้าที่มาจากจีน ถ้าพบว่าหญิงสาวคนไหนไม่ได้มากับครอบครัวก็จะสอบปากคำหมดทุกคน และถ้าพบว่าหญิงคนไหนถูกหลอกลวงมากโดยไม่เต็มใจและสมัครใจที่จะกลับเมืองจีนก็จะส่งมอบหญิงคนั้นให้อยู่ในความดูแลของนายเรือ และทำหนังสือส่งตัวไปยังตำรวจฮ่องกงให้เพื่อจัดการส่งกลับบ้านต่อไป

หลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็ได้ออกกฎหมายปรามการค้าประเวณี และถือว่าโสเภณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต่อมาในปีพ.ศ. 2539 จากการปรามก็กลายเป็น "ป้องกันและปราบปราม" จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลและภาพประกอบจาก "siamupdate"

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...